เก็บตก SDC 2017 กับความพยายามครั้งใหม่ของซัมซุงสู่โลก Connected Device

by nismod
26 October 2017 - 06:39

งานสัมมนาสำหรับนักพัฒนา Samsung Developer Conference 2017 จบลงไปแล้ว โดยตัวงานตั้งแต่ธีม Connected Thinking ไปจนคีย์โน้ตและการจัดแสดงบูธภายในงานล้วนโคจรอยู่รอบแนวคิด Connected Device, IoT และ Bixby

ถึงแม้ก่อนหน้านี้เราจะเห็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันด้าน IoT และ Connected Device ของซัมซุงไปเนืองๆ ไม่ว่าจะ Smart Thing Hub, ARTIK ฯลฯ แต่ SDC 2017 ครั้งนี้ได้สะท้อนความพยายามของซัมซุง ไปจนถึงนับเป็นหลักไมล์ในการเริ่มสร้าง ecosystem สำหรับสมาร์ทโฮมและ Connected Devices ขึ้นมาแข่งกับ Google, Amazon ไปจนถึง Apple (ที่เริ่มก่อนชาวบ้านแต่ ecosystem โตช้าสุด) อย่างเต็มตัว

บทความนี้จะพยายามสะท้อนความพยายามดังกล่าวของซัมซุงจากงาน SDC 2017 ครั้งนี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ภาพรวมตลาด IoT ในสหรัฐค่อนข้างโต

ในบ้านเราอุปกรณ์ Connected Device หรืออุปกรณ์สมาร์ทโฮมภายในบ้านอาจไม่เป็นที่รู้จักหรือเป็นที่นิยมเท่าไร แต่ในสหรัฐอเมริกา อุปกรณ์เหล่านี้วางขายและถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายและหลากหลาย ไล่ไปตั้งแต่กุญแจบ้าน, เครื่องปรับอุณหภูมิ, ม่าน, เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ไม่รู้จะมีไปทำไม อย่างแท่นแขวนกระดาษชำระอัจฉริยะ ที่แจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟนเมื่อกระดาษชำระหมด เป็นต้น


โชว์รูมผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฮมจากห้าง Target ในซานฟรานซิสโก

ส่วนหนึ่งที่อุปกรณ์เหล่านี้มีจำนวนมาก ก็ด้วย ecosystem ที่ค่อนข้างเพียบพร้อมและหลากหลาย ทั้ง Google, Amazon และ Apple ที่ตามมาห่างๆ แต่กระนั้น ecosystem ด้านนี้ก็ยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานเท่านั้นและยังมีพื้นที่เพียงพอให้ซัมซุงตามทัน ประกอบกับซัมซุงเองก็มีเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ตัวเองอยู่จำนวนมากและหลากหลาย ย่อมสร้างความได้เปรียบเรื่อง compatibility และจำนวนอุปกรณ์ Connected Devices เหนือคู่แข่งได้ไม่ยาก

ผู้ช่วยอัจฉริยะคือศูนย์กลาง Connected Device

หากมองจากเจ้าของ ecosystem ข้างต้นทั้ง Google, Amazon และ Apple ล้วนมีผู้ช่วยอัจฉริยะของตัวเองทั้ง Google Assistant, Alexa และ Siri ที่เป็นอินเทอร์เฟสหลักสำหรับติดต่อกับผู้ใช้งาน โดยทั้ง Google Assistant และ Alexa ล้วนมี SDK และ APIs เปิดให้นักพัฒนาเข้าถึงได้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในช่องทางสำหรับการขยาย ecosystem ของตัวเอง

ในขณะที่ฝั่งซัมซุงเองเพิ่งเปิดตัว Bixby มาได้ไม่ถึงปี ในงาน SDC 2017 ที่ผ่านมา ซัมซุงได้เปิดตัว Bixby 2.0 โดยคีย์หลักสำคัญคือมาพร้อมกับ Bixby SDK ที่เปิดให้นักพัฒนาเข้าถึงการใช้งาน Bixby รวมไปถึงขยายการรองรับให้ไปไกลกว่าสมาร์ทโฟนแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Google หรือ Amazon แล้ว ซัมซุงช้ากว่ามาก ดังนั้นซัมซุงจึงพยายามไล่คู่แข่งให้ทันด้วย Bixby 2.0 ที่ออกหลังเวอร์ชันแรกเพียง 7 เดือน

การออก SDK นี้จะช่วยเปิด ecosystem ของซัมซุงให้กับนักพัฒนาและผู้ผลิต Connected Device จำนวนมาก ขณะเดียวกันเมื่อถูกใช้งานมากขึ้น ซัมซุงก็จะได้ข้อมูลมาพัฒนา Bixby ให้ฉลาดมากขึ้นและเร็วขึ้นด้วย

ให้ทีวีและตู้เย็นเป็นศูนย์กลางของบ้าน

ซัมซุงบอกว่าศูนย์กลางหลักๆ ของบ้านมีอยู่สองจุดคือห้องนั่งเล่นและห้องครัว ดังนั้นซัมซุงจึงอาศัยความได้เปรียบเหนือคู่แข่งจากการมีไลน์ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของตัวเอง ด้วยการยึดศูนย์กลางทั้งสองจุดในบ้าน จากการเปิดให้สมาร์ททีวีรองรับ Bixby ช่วยให้การใช้งานและสั่งการภายในบ้านมีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของห้องครัว ซัมซุงได้เผยโฉม Family Hub ตู้เย็น (อัจฉริยะ?) ที่มาพร้อมหน้าจอขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เพียงเอาไว้ใช้ตรวจสอบหรือดูเสบียงในตู้เย็น แต่ยังเป็นอินเทอร์เฟสกลางของบ้าน ดูนัดหมาย อีเมลหรือข้อความจากสมาร์ทโฟนของคนภายในบ้าน เช่นเดียวกับการแชร์เพลงหรือภาพยนตร์จากสมาร์ทโฟนขึ้นบนตู้เย็นก็ได้เช่นกัน

ส่วนของลำโพงอัจฉริยะซัมซุง เราก็น่าจะได้เห็นกันในเร็วๆ นี้ หลัง DJ Koh ซีอีโอฝั่งธุรกิจมือถือออกมายืนยันด้วยตัวเองแล้ว

หน้าบ้านรวมศูนย์ผ่าน Bixby หลังบ้านรวมศูนย์ผ่าน SmartThings Cloud

การรวมศูนย์แพลตฟอร์มและคลาวด์ Connected Devices ของซัมซุงเป็นการเอื้อให้นักพัฒนาสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการบนแพลตฟอร์มนี้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของซัมซุงที่กระจัดกระจายมาก่อน สามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้ง่ายมากขึ้น

และภายในงาน SDC 2017 นี้เอง ซัมซุงก็ได้เปิดตัวชิป ARTIK ด้านความปลอดภัยตัวใหม่ ชื่อว่า Secure System-on-Module เพื่อตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยของอุปกรณ์ Connected Devices และช่วยให้นักพัฒนาไม่ต้องกังวลในประเด็นนี้มากนัก เพราะมีฮาร์ดแวร์ให้พร้อมอยู่แล้ว

โดยฟีเจอร์หลักๆ ของ Secure Sostem-on-Module แทบจะเป็นการยกเอาความสามารถมาจาก Samsung Knox มา ไม่ว่าจะเป็น Root Trust from Deivce-to-Cloud, Secure Boot, Trusted Execution Environment (TEE) เป็นต้น

สรุป

หากมองในแง่โอกาสแล้ว ซัมซุงน่าจะเป็นเจ้าเดียวที่มีโอกาสสร้าง ecosystem ในหลายประเทศได้มากกว่าคู่แข่ง เนื่องด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ของซัมซุงมีวางขายอยู่แล้วทั่วโลก ไม่นับจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจำนวนมาก ขณะที่ ecosystem และตลาดของ Google และ Amazon ยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นหลักเท่านั้น

แผนการในการสร้าง ecosystem ไล่ตามคู่แข่งทั้งสองเจ้าของซัมซุงจึงค่อนข้างชัดเจน จากทั้งใช้ Bixby รวมศูนย์อินเทอร์เฟสติดต่อผู้ใช้ทั้งหมด ขณะที่หลังบ้านก็รวมบริการและแพลตฟอร์มต่างๆ เข้าด้วยกันในชื่อ SmartThings Cloud

จากโอกาสข้างต้น ถึงแม้จะมาทีหลัง แต่การขยายแพลตฟอร์มและ ecosystem ของซัมซุงอาจไปได้ไกลและเร็วกว่าทั้ง Google และ Amazon ที่ทำมาก่อนแล้วก็ได้

Blognone Jobs Premium