ซอฟท์แวร์ก๊อปปี้ ดีจริงหรือ?

by natty
20 November 2008 - 04:10

เล่าเหตุการณ์ให้ฟังกันก่อน
สัปดาห์ที่แล้วมี โอกาสได้ลงโปรแกรมให้กับเพื่อน ซึ่งเพิ่งโดนไวรัสไปสดๆ หมาดๆ เพิ่งจะฟอร์แมท ได้แผ่นสำหรับลงโปรแกรมมา 3 แผ่น คือ office 2007, Adobe CS3 suite และ ACDsee ซึ่งแผ่นทั้งหมดนี้มาจากแถวพันทิพย์นั่นเอง ถือว่าเป็นโอกาสดีมากสำหรับครั้งนี้ที่ได้เห็นว่า ซอฟต์แวร์เถื่อนนี่อันตรายจริงๆ มาดูกันค่ะว่าเกิดอะไรขึ้น นี่ขนาดมีแค่ 3 โปรแกรมเอง รอบนี้แจ๊กพ็อตจริงๆ เริ่มต้นด้วยการติดตั้ง Adobe CS3 Master Collection ยังไม่ทันไรก็เจอเลย พยายามจะเปิดโปรแกรม Key generator เพื่อสร้าง serial number ให้ เจ้า Trojan ก็ฝังตัวอยู่ในตัว Key generator นี่แหละ

ยังไม่แค่นั้น ตอนลง ACDSee ต่ออีก ก็เจอ CN911.EXE ซึ่งเป็นโปรแกรมพวก back door อีก ซึ่ง trojan พวกนี้อันตรายมากกับความปลอดภัยของข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะมันคือโปรแกรมที่เปิดทางให้ hacker สามารถขโมยข้อมูลในเครื่องของเราได้ มีหลักการทำงานเดียวกับ client/server เลย แบบว่า remote เข้ามาได้โดยที่เราก็ป้องกันอะไรไม่ได้ ซึ่งน่าเศร้ามาก ที่ Trojan พวกนี้จะถูกฆ่าได้ก็ต่อเมื่อต้องเป็นตัวโปรแกรม antivirus แบบมีลิขสิทธิ์เท่านั้น เพราะเราจะสามารถอัพเดทฐานข้อมูลไวรัสล่าสุดได้ ไม่ว่าจะมาไม้ไหนก็จับได้หมด แต่ถ้าใช้ antivirus เถื่อน ก็จบ

คราวนี้คิดหนักแล้ว เหลือ Microsoft Office 2007 อีกตัวที่ยังไม่ได้ลง จริงๆ ก็ไม่อยากจะยุ่งแล้ว แต่ว่าเพื่อนก็ต้องการใช้มากๆ เพราะเรียกได้ว่าเป็นโปรแกรมหลักของเครื่องเลย เราก็ทำใจไม่ได้ อยากจะช่วยเพื่อนแต่ไม่อยากจะทำร้ายเพื่อนในเวลาเดียวกัน ก็เลยลองไปหาในเว็บ ก็เลยได้เห็นว่า Microsoft มีโปรโมชั่นอยู่พอดี คือให้ซื้อ Microsoft Office Home and Student 2007 ในราคาถูกสุดๆ แค่สามพันเท่านั้น แถมซื้อหนึ่งได้ลงได้ถึง 3 เครื่อง เลยพาเพื่อนไปซื้อพร้อมกันเลยเพราะก็อยากได้มาใช้งานเหมือนกัน เสร็จแล้วก็กลับมาลงให้ที่บ้านเพื่อน แกะกล่องดู เห็นสิทธิประโยชน์ได้พร้อมมาด้วยก็รู้สึกสบายใจ ก็เลยมานั่งคิดชั่งใจว่า...

จริงหรือ? ที่ทุกวันนี้เราใช้ของฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ถ้าวันหนึ่งของปลอมพวกนี้มาทำร้ายคอมพิวเตอร์ของเรา ถึงขนาดพังไปเลยแก้ไม่ได้ เราจะทำยังงัย คุ้มกับเงินหลักหมื่นที่เราเสียไปไหม? คุ้มกับข้อมูลที่โดนแฮกไหม?

ของฟรี...ดีจริงหรือ
ของ ดี และยังฟรี ใครๆ ก็ชอบทั้งนั้น แต่บางคนคงเคยได้ยินว่า ของฟรี ไม่มีในโลก แต่อยู่ที่ว่า จะมีใครรู้บ้างว่า เราต้องเสียอะไรไปกับของฟรีบ้าง? ผู้เขียนเป็นคนหนึ่ง ที่โดนกล่อมเกลาในเรื่อง plagiarism หรือ ความรู้จักละอายใจเมื่อก๊อปปี้ของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง และเป็นคนหนึ่งที่เป็นตัวตั้งตัวตีกับผู้คนรอบข้าง ที่จะให้ใช้ซอฟท์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ วันนี้เลยคิดว่าเป็นโอกาสดี ที่จะมาพูดคุยให้กับชาว Blognone เห็นประโยชน์กับการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เผื่อจะเป็นแสงสว่างนำทาง ให้เพื่อนๆ เลือกที่จะทำสิ่งที่ดี อย่างที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ในตอนนี้ค่ะ

โดยปกติของคนส่วนใหญ่ แน่นอนว่าต้องอะไรที่ได้มาง่ายๆ หรือฟรีๆ และด้วยความชอบของฟรีแบบนี้ ทำให้โลกนี้ เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญามากมาย โดยเฉพาะด้านซอฟต์แวร์เป็นด้านที่เห็นได้ชัดมาก เพราะลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างสูง การก๊อปปี้จึงเป็นวิธีการที่ง่าย และราคาถูก ที่จะได้มาซึ่งซอฟต์แวร์ โดยที่ผู้ใช้ ลืมคำนึงถึงข้อเสียกันเลยทีเดียว เพื่อให้เห็นภาพชัด จึงขออ้างอิงข้อมูลทางวิชาการจากวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งได้เก็บสถิติเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย โดยได้ข้อมูลจากรายงานของ BSA พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มากที่สุดเป็นอันดับ ที่ 5 ในเอเชียแปซิฟิกในปี 2006 ซึ่งนับได้ว่า ประเทศไทยทำอันดับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้ดีทีเดียว แล้วแบบนี้เราสมควรจะภูมิใจไหม ที่มีชื่อเสียงด้านการก๊อปปี้ติดอันดับ TOP 5 ของเอเชีย

ด้วยเหตุนี้ ก็สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลไทย จึงพยายามเป็นอันมากที่จะกำจัดปัญหานี้ โดยกำหนดเป็นนโยบายในรัฐธรรมนูญไทยในปี 2007 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 10 2007-2011 เพื่อโน้มน้าวให้ทั้งองค์กรราชการและอิสระ ร่วมมือกันใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย และมากกว่านั้น เชื่อไหมว่า จากการศึกษาของ IDC พบว่า หากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงจาก 80% เหลือ 70% จะทำให้อุตสาหกรรม IT เติบโตจากเดิมเป็น 91% และทำให้เกิดตำแหน่งงานด้าน IT เพิ่มขึ้น กว่า 2,100 งาน เลยทีเดียว

ถึงเวลาหรือยัง ที่พวกเราควรกลับมาทบทวน เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ด้านซอฟต์แวร์ จริงหรือ? ที่เราจะต้องเกิดความสูญเสียมากขึ้น จากการที่เราคิดจะใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ เคยคิดไหม ว่ามันอาจจะเป็นแค่นิสัยชอบใช้ของฟรีเฉยๆ โดยลืมคิดถึงความคุ้มค่า และข้อดีข้อเสียจริงๆ ของสิ่งที่เราใช้ และราคาซอฟต์แวร์เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้แพงเหมือนแต่ก่อนแล้ว ลองดูตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่เราใช้กันบ่อยๆ ดีกว่า

ซอฟท์แวร์สามัญประจำบ้าน
ยกตัวอย่างโปรแกรม ป้องกันไวรัสชื่อดังอย่าง Bitdefender มีราคาเพียงกล่องละ 380 บาทเท่านั้น (ถูกกว่าพิซซ่าถาดกลางเสียอีก) แต่สิ่งที่คุณจะได้มากกว่าซอฟต์แวร์แบบเถื่อนคือ คุณจะได้รับบริการหลังการขาย การอัพเดตฐานข้อมูลไวรัสที่เป็นปัจจุบันที่สุด หากเกิดความสูญเสียกับข้อมูลของคุณจากการใช้งาน ก็จะมีผู้รับผิดชอบหากมันเกิดจากไวรัส!

หรือมองย้อนกลับมามองซอฟต์แวร์ไทยยอดฮิต อย่าง Thai dictionary ของ ส.เศรษฐบุตร ก็มีราคาอยู่ที่หลักร้อยเท่านั้น หรือใครที่ไม่อยากเสียเงินเลย ก็หันมาใช้ของฟรีแบบไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ทดแทนได้ เช่น ใช้ Gimp แทนการใช้ Photoshop ก็ได้ความสามารถที่เท่าเทียมกัน แถมไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย แม้แต่ Enterprise Software เดี๋ยวนี้ยังมีให้ใช้ฟรีเลย ยกตัวอย่าง ERP ชื่อดัง เช่น Apache OFBiz มีทุกคอมโพเนนท์เกี่ยวกับด้านธุรกิจให้ใช้งาน แถมสามารถแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะกับองค์ได้

หรือจะกล่าวไปถึงระบบปฏิบัติการ แทนที่จะต้องมาใช้แผ่นวินโดวส์เถื่อนให้มันเสี่ยงต่อความปลอดภัยของ คอมพิวเตอร์ของคุณ เพราะว่าคุณจะอัพเดตมันไม่ได้หรอก เค้าจะจับได้เอา พอพูดถึงระบบปฏิบัติการยอดฮิตที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างเช่นวินโดวส์ ปัจจุบันนี้เราก็สามารถใช้วินโดวส์ถูกลิขสิทธิ์ได้ง่ายๆ เพราะมันถูกแถมมากับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอยู่แล้ว ไม่ต้องก๊อปปี้ให้เสียเวลา แถมได้ความอบอุ่นใจด้วยว่า เราจะได้ระบบปฏิบัติการที่มีเสริมความปลอดภัยให้กับข้อมูล อัพเดตโปรแกรมได้ตลอดเวลาและจะได้รับการดูแลแบบถูกกฎหมายหลังการใช้งาน และที่มากกว่านั้น แม้แต่ซอฟท์แวร์ชื่อดังอย่างไมโครซอฟท์ออฟฟิศ ก็ดิ่งราคาลง จากราคาหลักหมื่น เหลือแค่สามพันบาทเท่านั้นเอง ! มันไม่ได้มากมายอะไรเลย ถ้าเราจะเสียเงินเพื่อบริการหลังการขาย และความมั่นใจในการใช้งานว่าข้อมูล ที่มีค่ามากกว่าเงินสามพันของเรา จะไม่เกิดความเสียหาย และรู้สึกภูมิใจกับการใช้ของลิขสิทธิ์ เหมือนเวลาที่เรายอมควักเงินเพื่อซื้อ iPOD หรือ iPHONE

ยิ่งอ่าน ยิ่งคิด ก็ยิ่งรู้สึกว่า แล้วเราจะใช้ของปลอมกันทำไมเนี่ย!

อ้างอิงจาก DETERMINANTS OF SOFTWARE PIRACY IN THAILAND by Chatwalai Taechasaensiri, Asian Institute of Technology, May 2008

Blognone Jobs Premium