Windows Mixed Reality เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่มาพร้อมกับ Windows 10 Fall Creators Update แม้ว่าฟีเจอร์นี้ยังไม่น่าจะมีใครได้ลองใช้งานจริง เพราะแว่นเพิ่งเริ่มวางขายในต่างประเทศ แต่ท่าทีของไมโครซอฟท์ก็ชัดเจนว่าต้องการดันเรื่องนี้แบบสุดตัว
คำถามที่น่าสนใจคือตกลงแล้วคำว่า "Mixed Reality" คืออะไรกันแน่ มันต่างจาก AR/VR ในปัจจุบันอย่างไร โชคดีว่าในเอกสารสำหรับนักพัฒนาของไมโครซอฟท์มีอธิบายเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างละเอียด ควรค่าแก่การนำมาถ่ายทอดบอกต่อกัน
อย่างแรกสุด ไมโครซอฟท์อ้างนิยามตามตำราวิชา human computer interaction (HCI) ว่า Mixed Reality คือการซ้อนทับกันของ 3 สิ่งคือ มนุษย์ คอมพิวเตอร์ และสภาพแวดล้อม ตามแผนภาพ ประเด็นสำคัญคือต้องมีครบทั้ง 3 ปัจจัยถึงจะเป็น mixed reality
แต่การซ้อนทับกันระหว่างโลกจริง (physical reality) กับโลกเสมือน (digital reality) ก็มี "ระดับ" (spectrum) ที่แตกต่างกันไป
ตามแนวคิดของไมโครซอฟท์จึงนิยามว่า Mixed Reality เป็นร่มใหญ่ที่ครอบคลุมทุกสิ่ง ส่วน Augmented Reality (AR) คือส่วนที่อยู่ใกล้กับโลกจริง และ Virtual Reality (VR) คือส่วนที่อยู่ใกล้ชิดกับโลกเสมือน
ขยับนิยามให้เจาะจงเข้ามาอีกขั้น พอเราสนใจตัว "อุปกรณ์" (device) ของ Mixed Reality ก็สามารถแยกได้เป็น 2 ส่วน
แว่น Mixed Reality ที่ไมโครซอฟท์และพาร์ทเนอร์อย่าง Acer, Dell, HP, Lenovo วางขายอยู่ในตอนนี้ จึงถือเป็นอุปกรณ์แบบ Immersive Devices ทั้งหมด (VR) และตอบโจทย์คนละอย่างกับแว่น HoloLens (AR)
ไมโครซอฟท์ยังเปรียบเทียบการใช้งานแว่น AR/VR ของตัวเอง กับการใช้สมาร์ทโฟนทำฟีเจอร์ AR/VR ว่าแว่นของไมโครซอฟท์ให้ประสบการณ์ที่ครอบคลุมมากกว่า แม้จะยังไม่สมบูรณ์ 100% ตามวิสัยทัศน์ Mixed Reality ก็ตาม
ส่วนในแง่แอพพลิเคชันของ Mixed Reality แต่ละแบบ ก็มีคุณลักษณะแตกต่างกันไป เช่น Pokemon Go ถือเป็น AR หรือการดูวิดีโอ 360 องศาในแว่น มีความเป็น VR มากกว่า ซึ่งฟีเจอร์บางอย่างก็เหมาะกับการใช้งานบน HoloLens มากกว่า
กล่าวโดยสรุปคือ Mixed Reality ของไมโครซอฟท์ก็เพิ่งเริ่มต้น และยังทำไม่ได้ครบตามสเปกตรัมที่ไมโครซอฟท์วาดฝันไว้ แถมการใช้งานของแว่น HoloLens กับแว่นของพาร์ทเนอร์ที่ราคาแตกต่างกันมาก ก็ยังตอบโจทย์คนละอย่างกัน (AR vs VR) ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง กว่าไมโครซอฟท์จะไปได้ถึงแผนการที่ฝันเอาไว้