มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ อยู่ในกลุ่ม Top 5 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประชากรกว่า 55% – 80% สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ในปี 2550
ในขณะเดียวกัน พม่า, ติมอร์-เลสเต้, ทาจิกิสถาน, บังคลาเทศ และกัมพูชา ติดกลุ่ม 5 อันดับรั้งท้าย (Bottom 5) ของภูมิภาค ที่มีประชากรไม่ถึง 1% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอยู่ที่ 20%
คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก(UNESCAP) หรือเอสแคป www.unescap.org เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาถึงแม้ภูมิภาคนี้จะมีความก้าวหน้าด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) ค่อนข้างมาก ทว่ายังคงมีความแตกต่างกันมากในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ระหว่างประเทศรายได้สูงกับประเทศรายได้ต่ำ
เอสแคปกล่าวด้วยว่า ช่องว่างยังคงเห็นได้ชัดเจนทั้งๆที่จากการศึกษาพบว่า จำนวนการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการประชุมสุดยอดด้านสังคมสารสนเทศ (WSIS) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2545
ดังนั้นเพื่อเป็นการลดช่องว่าง (digital divide) ที่เกิดขึ้น เอสแคปจึงต้องการเชิญชวนให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT จากหน่วยงานต่างๆภาครัฐ สถานศึกษา สหประชาชาติ และหน่วยงานระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ได้เข้ามาร่วมมือกัน
เอสแคปกล่าวเสริมว่า จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 70 เท่าในภูมิภาคเอเชียใต้ระหว่างปี 2543 – 2550 และกว่า 40 เท่าในเอเชียกลาง ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีตลาดที่พัฒนาค่อนข้างมากนั้น จำนวนผู้ใช้ยังโตขึ้นประมาณ 10 เท่า
การเติบโตในประเทศยากจนที่สุดในภูมิภาคยังมีแนวโน้มเป็นไปได้รวดเร็ว ทั้งนี้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในภูมิภาคเป็นกลุ่มที่พบว่ามีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 80 เท่า