งาน Google Play Playtime เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อให้นักพัฒนาได้มีโอกาสพูดคุยกับทางกูเกิ้ลเกี่ยวกับเรื่องของแอปพลิเคชั่นและทิศทางต่างๆ Google Play โดยมีจัดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยในโซนเอเซียแปซิฟิกก็จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งทางกูเกิ้ลประเทศไทยก็ได้พาเราไปร่วมงานและเก็บบรรยากาศมาฝากกันครับ
ตัวงานแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ตอนเช้าสำหรับนักข่าวและบล็อกเกอร์ กับตอนบ่าย เป็นงาน Keynote และงานสำหรับนักพัฒนา ซึ่งผมได้เข้าร่วมในส่วนของงานตอนเช้า และในช่วง Keynote
คลิปเปิดงาน
งานเริ่มขึ้นด้วยการกล่าวเปิดจากคุณ James Sanders ตำแหน่ง Director of Google Play, APAC ดูแลในโซนเอเซียแปซิฟิกโดนเฉพาะ คุณ Sanders แนะนำว่า Google Play ไม่ได้มีแค่โทรศัพท์มือถือ แต่มีในอุปกรณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงรถยนต์ ซึ่ง Android และ Google Play มีผู้ใช้ที่เยอะมาก โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่มากถึง 2 พันล้านเครื่อง หรือเทียบได้กับประชากร 1 ใน 3 ของโลกนี้เลยทีเดียว และมีจำนวนการติดตั้งแอปถึง 8.2 หมื่นล้านครั้ง
เมื่อวัดความสำเร็จของนักพัฒนา โดยดูจากแอปที่มีการติดตั้งเกิน 1 ล้านครั้งต่อเดือน พบว่ามีนักพัฒนาที่ไปถึงจุดนั้นได้มากขึ้นถึง 35%
ถัดมา คุณ Sanders ได้พูดถึงเรื่องการชำระเงิน ซึ่ง Google Play สามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิตได้มากกว่า 135 ประเทศทั่วโลก, มีผู้ให้บริการโทรศัพท์ 140 ราย จาก 55 ประเทศ ที่รองรับการจ่ายเงินผ่านบิล รวมถึงประเทศไทย โดยมี AIS และ DTAC ที่ให้บริการนี้, มีมากกว่า 30 ประเทศที่มีบัตรของขวัญ (gift card) และอีกกว่า 20 ประเทศที่รองรับ PayPal โดยที่ในปีนี้มีแผนที่จะเพิ่มความครอบคลุมของบัตรของขวัญให้มากขึ้นอีก
การที่ Google Play มีช่องทางการชำระเงินจำนวนมาก จะทำให้ผู้พัฒนาเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วถึงขึ้น ซึ่งผู้ซื้อใน Google Play มีมากขึ้น 30% และมีคนซื้อแบบ subscription เพิ่มขึ้นเท่าตัว
นอกจากนี้ Google ยังได้มีการจัดงาน Indie Game Developers Day ที่สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงที่ไทยด้วย และมีงาน Google Play Indonesia Games Contest โดยกูเกิ้ลมองว่าการจัดงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ระบบนิเวศน์ของการพัฒนาภายในท้องถิ่นดีขึ้น ซึ่งในปีนี้ นักพัฒนาในโซนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 150%
ช่วงถัดมาเป็นการพูดคุยกับผู้พัฒนาโดยมีคุณ Kunal Soni ตำแหน่ง Head of Business Development, Google Play เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงนี้ ซึ่งมีผู้พัฒนาจากประเทศต่างๆ ได้แก่
Howard Go จาก Mochibits, ฟิลิปปินส์
Mochibits มองปัญหาของเกมว่า เกมดังๆ มันจะไปเร็ว มาเร็ว จึงอยากทำเกมที่คนเล่นอยู่ได้นานๆ ซึ่งก็ออกมาเป็นเกมเกี่ยวกับคำและเกมที่ฝึกสมองต่างๆ Go แนะนำว่า การทำ A/B testing และ localization สามารถเพิ่มรายได้ของเกมได้
Yiwei P'ng จาก Kurechii, มาเลเซีย
P'ng พูดเรื่องการทำ Early Access ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ใน Google Play ว่า สามารถทำให้เขารับ feedback จากลูกค้าได้ก่อนที่เกมจะออกขายจริง
Rokimas Soeharyo จาก Touchten Games, อินโดนีเซีย
Soeharyo มองว่า Google Play ทำให้สามารถขายแอปได้ทั่วโลกอย่างง่ายๆ และเสริมว่าการทำ localization ไม่ใช่แค่การแปลภาษาเท่านั้น แต่เราจะต้องเข้าใจวัฒนธรรมของเขาด้วย
พลภัทร์ อุดมผล จาก Ookbee, ไทย
คุณพลภัทร์ ถือว่าเป็นคนเดียวในเวทีนี้ที่มาด้วยแอปพลิเคชั่น (ท่านอื่นจะเป็นเกมทั้งหมด) แอปในเครืออุ๊คบีมีหลายแอปที่แยกย่อยแตกต่างกันไปตามเซ็กเมนท์ของกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งหลักการของอุ๊คบีคือ พยายามจะทำให้งานอดิเรก เช่น การเขียน การวาดรูป สามารถสร้างรายได้ได้
Silver Nguyen จาก Amanotes, เวียดนาม
Amanotes เป็น start-up ที่นำดนตรี กับเทคโนโลยีมารวมกัน เพิ่งมีอายุเพียงสองปีเศษๆ แต่มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 52 ล้านคน
หลังจากนั้นก็มีการพูดคุย แนะนำประสบการณ์ต่างๆ จากผู้พัฒนา เช่น
สำหรับในช่วง Keynote ก็มีเรื่องเพิ่มเติมจากช่วงเช้าอีกบางส่วน ได้แก่
Google Instant App เป็นแอปที่จะมีปุ่ม “Try it Now” ในหน้า Play Store ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ได้ลองใช้แอปก่อนได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องติดตั้งลงในเครื่อง
Android Go แอนดรอยขนาดเล็ก ที่สามารถรันได้แม้ในเครื่องที่มีสเปคต่ำๆ
Play Store มีการปรับปรุงในหลายๆ ส่วน เช่น เพิ่มการคัดสรร, เพิ่ม Section, เพิ่มชนิดของเนื้อหา, การทำ Personalization, มีบทความขนาดยาวแนะนำแอป, มีการจัดอันดับ และให้รางวัล เช่น Best of 2017, การแยกเกมออกเป็นส่วนเฉพาะ แยกเกมใหม่ และ เกมพรีเมี่ยม
การค้นหาแอปจากเนื้อหา เช่น เราอยากดู Game of Thrones แต่ไม่รู้จะต้องใช้แอปไหนดู ก็จะสามารถค้นหาจาก Play Store ได้เลยว่าใช้แอปไหน
Android Vitals ระบบ monitor ประสิทธิภาพของแอปเพื่อให้นักพัฒนาเข้าใจปัญหาด้านประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่ง Vitals กำลังจะมีหน้าตาแบบใหม่ที่จะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นด้วย
การเลือกปล่อยแอปในแต่ละประเทศ จากเดิมที่เลือกได้แค่ว่าปล่อยประเทศไหนบ้างและต้องปล่อยพร้อมๆ กันทุกประเทศ แต่แบบใหม่จะสามารถแยก “Track” alpha/beta/production ของแต่ละประเทศได้อิสระต่อกัน
โดยรวมแล้ว งานนี้ก็เป็นการพูดถึงแผนการของกูเกิ้ลในอนาคตที่จะทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้ดีขึ้น มีระบบการสนับสนุนผู้พัฒนาเพื่อให้สร้างแอปที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ผู้ใช้สามารถเข้าถึงแอปได้มากขึ้น และสะดวกรวมเร็วขึ้น จ่ายเงินได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็จะวนกลับไปที่ผู้พัฒนาแฮปปี้ คนใช้งานก็แฮปปี้ ถือว่าเป็นการสร้าง “Ecosystem” ให้มั่นคงแข็งแรงนั่นเอง