ปัญหาข่าวปลอม (fake news) บนโลกโซเชียลกลายเป็นเรื่องบานปลายในสหรัฐ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะคำครหาที่ว่าข่าวปลอมสามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ได้ Blognone จึงสรุปเหตุการณ์จากประเด็นดังกล่าว เพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่า fake news บานปลายและมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ภาพจาก Pixabay
ข่าวปลอมโดยความหมายของมันคือ ข้อมูลชุดหนึ่งที่ทำขึ้นมา โดยมีเจตนาจะบิดเบือนและโจมตีบุคคล กลุ่มคน หรือองค์กร มีเนื้อหากระตุ้นอารมณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน หรือที่เราเคยเห็นตามหน้าสื่อบ่อยๆ ว่า "พาดหัวเรียกแขก" (click bait)
ข่าวปลอมในยุคก่อนมาในรูปแบบเอกสาร ใบปลิว ฟอร์เวิร์ดเมล แต่การแพร่ระบาดไม่เคยมีประสิทธิภาพมากนัก จนกระทั่งเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลายเป็นช่องทางหลักในการรับข่าวสารของผู้ใช้งานแทนสื่อเก่าอย่างทีวี หนังสือพิมพ์ และวิทยุ
โซเชียลมีเดีย ถือเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมของผู้ผลิตข่าวปลอมด้วย เพราะโดยธรรมชาติของข่าวปลอมมักเรียกความสนใจจากผู้ใช้งานได้มากกว่าข่าวจากสื่อหลักหรือข่าวจากสำนักข่าวตามปกติ เพราะยิ่งมีคนคลิกเข้าไปอ่านมากก็ขายโฆษณาได้มาก
นอกจากนี้ ข่าวปลอมยังสร้างแนวคิดทางการเมืองแบบ Post-truth politics คือการแสดงความคิดเห็นและการสนทนาเรื่องการเมืองโดยเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง เนื้อความที่ถกเถียงกันมักออกทะเลและไม่ตั้งอยู่บนนโยบายทางการเมืองและข้อเท็จจริง
Facebook คือพื้นที่แพร่กระจายข่าวปลอมมากที่สุด ปัญหานี้คุกรุ่นสะสมมานานหลายปี แต่มุมมองคนทั่วไปมองข่าวปลอมว่า "ก็เป็นแค่ข่าวปลอม" ไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไรนัก แต่ปัญหาข่าวปลอมกลายเป็นเรื่องโด่งดังในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016 เมื่อมีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า โดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีก็เพราะข่าวปลอมเหล่านี้
บทความเว็บไซต์ BuzzFeed ชี้ว่าตัวเลขยอด engagement 20 ข่าวปลอมช่วงสามเดือนก่อนการเลือกตั้งปี 2016 พุ่งสูง 8.7 ล้านครั้ง แซงหน้าข่าวจากเว็บข่าวแท้ไปไกล แถม 5 ข่าวปลอมที่มียอด engagement สูงสุดใน Facebook ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวโจมตี ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต
ข่าวเหล่านี้ไม่เป็นความจริง แต่ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย
หมายเหตุ ตัวเลขด้านหลังคือยอด Engagement ช่วง 3 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง
ต้องบอกว่าวงการไอทีสหรัฐก็ไม่ค่อยชอบทรัมป์เท่าไรนัก เพราะนโยบายของทรัมป์ ล้วนแต่ขัดแย้งกับแนวทางธุรกิจของวงการไอที ครั้งหนึ่งทรัมป์เคยประกาศจะคว่ำบาตร Apple เพราะไม่ยอมให้หน่วยสืบสวนเข้าดูข้อมูลในโทรศัพท์ของอาชญากร, ทรัมป์ต้องการให้ฐานการผลิต และบุคลากรด้านเทคโนโลยีต้องมาจากภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น วงการไอทีจึงมีแนวโน้มสนับสนุนแนวทางพรรคเดโมแครตมากกว่า
เมื่อถูกวิจารณ์เรื่องข่าวปลอม Facebook มากเข้า ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2016 Mark Zuckerberg ก็ออกมาชี้แจง ว่าข่าวปลอม ไม่มีอิทธิพลมากขนาดนั้น และไม่น่าจะอยู่ในระดับที่สามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้
จนกระทั่งเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง Facebook ยอมเปิดเผยรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากรัสเซียในปี 2016 พบว่ามีการใช้เพจและบัญชีปลอมกว่า 470 บัญชีในการเข้าซื้อโฆษณาทั้งหมด 3,000 โฆษณา คิดเป็นเงิน 1 แสนดอลลาร์ ตั้งแต่ช่วงมิถุนายน 2015 - พฤษภาคม 2017 จากการตรวจสอบโดย Facebook พบว่ามีการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองกว่า 2,200 โฆษณา เข้าถึงผู้ใช้งานถึง 10 ล้านรายในสหรัฐฯ เนื้อหาที่เผยแพร่ไม่ได้เจาะจงที่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่แตะประเด็นสังคม การเมือง ความเท่าเทียมทางเพศ สีผิว
ล่าสุด Facebook ออกมาเผยว่าบัญชีปลอมและบัญชีสแปมบน Facebook มีอย่างน้อย 12% สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เท่าตัว คิดเป็นผู้ใช้ 2 พันล้านบัญชี มีบัญชีปลอม 60 ล้านบัญชี
หลังจากนั้นไม่นาน Twitter (ซึ่งโดนเพ่งเล็งไม่น้อยไปกว่า Facebook) ก็ออกมาเผยรายงานการสืบสวน พบว่ามีบัญชีน่าสงสัยที่เชื่อมโยงกับรัสเซียประมาณ 200 บัญชี และทางคณะกรรมการข่าวกรองเพ่งเล็งเว็บไซต์ข่าวจากรัสเซียมากเป็นพิเศษ คือ Russia Today โดยมีบัญชีบนทวิตเตอร์คือ @RT_com, @RT_America, และ @ActualidadRT สามบัญชีดังกล่าวโปรโมทข้อความทวิตเตอร์ 1,823 รายการ ใช้เงินโฆษณา 274,100 ดอลลาร์และน่าจะมุ่งเป้าไปที่ตลาดผู้ใช้ที่อาศัยในสหรัฐฯเป็นสำคัญ
ล่าสุดคณะกรรมการสืบสวนพบว่ามีบัญชีทวิตเตอร์สองราย คือ Jenna Abrams และ Pamela Moore ทวีตข้อความออกแนวขวาจัด ตั้งแต่วิพากษ์วิจารณ์คนดัง เซเลบริตี้ ไปจนถึงประเด็นการเมือง ต่อต้านผู้อพยพ มีคนรีทวิตข้อความมากมายหลายพันคน แม้แต่นักการเมืองพรรครีพับลิกัน Michael Flynn Jr. ก็รีทวิต, Kellyanne Conway และ Brad Parscale ผู้รับหน้าที่ทำแคมเปญหาเสียงให้โดนัลด์ ทรัมป์ ก็รีทวิตแต่ข่าวที่มาจากบัญชีปลอมจากรัสเซียในช่วง 1 เดือนก่อนจะมีการเลือกตั้ง ที่สำคัญ คณะทำงานมาสืบสวนย้อนหลังพบว่าทั้ง Jenna Abrams และ Pamela Moore เป็นบัญชีปลอม ไม่มีตัวตนอยู่จริง
สุดท้ายคือ Google เผยว่าพบโฆษณาจากบัญชีเชื่อมโยงไปยังรัฐบาลรัสเซีย เป็นโฆษณามีมูลค่า 4,700 ดอลลาร์ และพบโฆษณาที่มีฐานมาจากรัสเซียแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากรัฐบาลรัสเซียหรือไม่อีกมูลค่า 53,000 ดอลลาร์ โดยโฆษณาอยู่กระจายตัวไปทั้ง Gmail, YouTube และ Google Search
ทั้งสามบริษัทมีฐานผู้ใช้งานเป็นพันล้านคนทั่วโลก เหตุการณ์นี้ทำให้ตัวแทนของทั้งสามบริษัทต้องเข้าพบสภาคองเกรส เพื่อชี้แจงผลการสืบสวนกรณีบัญชีปลอมดังกล่าวในวันที่ 1 พ.ย. การเข้าชี้แจงต่อสภาฯครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งยืนยันปัญหาข่าวปลอมที่บานปลายไปมาก ที่แม้แต่ตัวผู้ก่อตั้งทั้งสามบริษัทก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นและมีผลกระทบรุนแรงขนาดนี้
สิ่งที่ตามมาคือทั้ง Facebook, Twitter, Google ต้องกลับไปทบทวนนโยบายด้านการโฆษณาของตัวเองใหม่หมด
แรงกดดันสำคัญมาจากฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะพรรคเดโมแครต เพราะข้อสรุปเรื่องข่าวปลอมมีส่วนช่วยให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นทุกที โดย Amy Klobuchar และ Mark Warner วุฒิสภาออกมาเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายเพิ่มความโปร่งใสในการโฆษณาการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย ต้องเปิดเผยสำเนาการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ข้อมูลผู้ใช้ที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายของโฆษณาเหล่านี้ ข้อมูลองค์กรที่ซื้อโฆษณา และค่าใช้จ่าย เปิดเผยให้สาธารณชนทราบ
Mark Warner และ Amy Klobuchar สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต
เราจึงเห็นความเคลื่อนไหวของโซเชียลมีเดียเรื่องปรับนโยบายโฆษณา ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของฝ่ายการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือเผยข้อมูลโฆษณา เพื่อเพิ่มความโปร่งใส
นอกจากนี้ยังทำโซลูชั่นแก้ปัญหาข่าวปลอมเพื่อกอบกู้สถานการณ์ เช่น Facebook งัดทุกกลยุทธ์โซลูชั่น เพื่อให้สามารถตรวจสอบข่าวปลอมบนแพลตฟอร์มได้ง่ายขึ้นโดยเพิ่มปุ่มตรวจสอบเนื้อหาใต้ข่าว และยังดูภาพรวมข่าวได้ว่ามีใครแชร์บ้างและแชร์ในพื้นที่ไหนบ้าง (กำลังอยู่ในช่วงทดลอง) ด้านทวิตเตอร์ก็ประกาศถอนโฆษณาจากสำนักข่าวรัสเซีย RT และ Sputnik ออกทั้งหมด และจะนำรายได้ไปบริจาค
อ่านข่าวปรับนโยบายโฆษณาได้ที่นี่
แนวโน้มอนาคตของโซเชียลมีเดีย แบรนด์ผู้ทรงอิทธิพลของโลก จะต้องเจอกับการควบคุมโดยรัฐมากขึ้น จากภาพลักษณ์พื้นที่เปิดกว้างทางความคิดและยืนหยัดเคียงข้างประชาชน เริ่มกลายเป็นตัวปัญหา กรณีโฆษณารัสเซียเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ทั้ง Facebook, Google, Twitter ยังมีปัญหาคั่งค้างให้แก้ไม่จบสิ้น
นอกเหนือจากบัญชีปลอมรัสเซีย YouTube ยังพบว่าเป็นแหล่งแพร่คอนเทนต์รุนแรงโดยเฉพาะเนื้อหาสนับสนุนการก่อการร้าย, Facebook ก็พบว่ามีการฆาตกรรมสดๆ ผ่าน Facebook Live มาหลายครั้ง, Twitter ก็ขึ้นชื่อเรื่อง Hate Speech, Cyber Bullying, ภาพโป๊ภาพแอบถ่ายมาหลายปี และเพิ่งจะร่างมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง เมื่อไม่นานมานี้เอง
ถึงที่สุดแล้วโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะมีอิทธิพลและครอบคลุมผู้ใช้งานทั่วโลกแค่ไหน บทบาทของทั้งสามก็ยังคงเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่มีรายได้หลักมาจากโฆษณา เมื่อช่องทางสร้างรายได้ให้บริษัทกลับเป็นเครื่องมือให้สามารถนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ง่ายและส่งผลกระทบในวงกว้างเพราะเผยแพร่เนื้อหาปลอมไร้หลักฐานยืนยัน จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมจำนนต่อแรงกดดันภาครัฐและสังคม เดินหน้าแก้ไขสิ่งที่เคยผิดพลาด ทบทวนนโยบายของตัวเองใหม่ทั้งหมด