KBank เปิดยุทธศาสตร์ปี 2561 เน้นหนักดิจิทัล เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต

by sponsored
8 November 2017 - 09:20

วันนี้ธนาคารกสิกรไทย แถลงข่าวประกาศยุทธศาสตร์ธุรกิจปี 2561 (2018) ภายใต้แนวคิด "Customers’ Life Platform of Choice" แพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่ลูกค้าเลือกเพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต เน้นการลงทุนด้านดิจิทัล-ไอทีครั้งใหญ่ 4-5 พันล้านบาท และเปิดตัวบริการใหม่ๆ ในฝั่งดิจิทัลหลายอย่าง เช่น บล็อกเชน และการนำ machine learning มาช่วยวิเคราะห์การให้สินเชื่อ

ภาพรวมของงานแถลงข่าว เน้นหนักไปที่การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคจากเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานสมาร์ทโฟน การใช้งานเน็ตบ้าน (fixed line) และโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้อัตราการใช้ mobile banking เพิ่มขึ้นถึง 34.8% ของจำนวนประชากรในปี 2559 เมื่อเทียบกับแค่ 0.9% ในปี 2553

ในแง่ของการแข่งขัน ธนาคารก็ยังต้องเจอกับคู่แข่งหน้าใหม่ๆ จากอุตสาหกรรมอื่น เช่น โทรคมนาคม ไอที อีคอมเมิร์ซ ค้าปลีก คมนาคม ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติ รวมถึงสตาร์ตอัพสายฟินเทคด้วย

ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะธนาคารที่มีผู้ใช้งาน mobile banking สูงที่สุดในไทย จึงวางยุทธศาสตร์ใหม่ว่าต้องการจะเป็น "แพลตฟอร์มอันดับหนึ่งในชีวิตลูกค้า" หรือ Customers' Life Platform of Choice ครอบคลุมทุกแง่มุมในชีวิตประจำวัน

เป้าหมายหรือ KPI ตามยุทธศาสตร์ Customers' Life Platform of Choice แบ่งออกเป็น 4 ข้อ

  • ผลักดันยอดผู้ใช้แอพ K PLUS เพิ่มเป็น 10.8 ล้านคน (ปัจจุบันประมาณ 7 ล้านคน)
  • ยอดผู้ใช้แอพ K PLUS Shop สำหรับฝั่งร้านค้าที่กำลังจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ (อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย) 1 ล้านราย
  • ยอดผู้ใช้แอพ K PLUS SME สำหรับธุรกิจ SME จำนวน 500,000 ราย
  • โครงการตลาดนัดออนไลน์ "พรวนฝัน" (ยังไม่เปิดบริการทั่วไป) มีสินค้ามาขายเป็นจำนวน 50,000 SKU

KBTG อัดงบไอที 4-5 พันล้านบาท ดันโครงการใหม่หลายอย่าง

ในแง่ของงบลงทุนด้านไอที ธนาคารระบุว่าปีหน้าจะทุ่มงบประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท สำหรับด้านไอทีเพียงอย่างเดียว เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ Customers' Life Platform of Choice ให้เกิดให้ได้

ตัวอย่างโครงการสำคัญๆ ทางด้านดิจิทัลของธนาคาร เริ่มจากกลุ่มโมบายแบงกิ้ง ที่จะผลักดันจากการเป็นแค่แอพ ให้เป็นแพลตฟอร์ม (ตามที่เคยประกาศไว้) โดยบริการในชุดได้แก่ K PLUS, K PLUS SME, K PLUS SHOP

ของใหม่ที่น่าจะได้เห็นกันภายในเดือน พ.ย. 2560 คือ "Machine Lending" หรือการนำเทคนิค machine learning มาวิเคราะห์พฤติกรรมการเงินของลูกค้า แล้วนำเสนอวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมให้ลูกค้าได้เลย

โครงการ หนังสือค้ำประกันด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปลายปี 2016 ตอนนี้มีบริษัทเข้าร่วมใช้งานจริงแล้ว 4 ราย และจะเปิดให้ใช้เพิ่มเติมอีก 7-10 บริษัทในเร็วๆ นี้

โครงการด้านบล็อกเชน ยังเริ่มทดลองใช้งานกับการหักบัญชีและชำระดุลทางการค้า (Clearing and Settlement) แบบข้ามประเทศแล้ว

ธนาคารยังจะเปิด API ให้สตาร์ตอัพเข้ามาเชื่อมต่อกับธนาคารได้ง่ายขึ้นด้วย โดยยึดประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ

เร่งสร้างพันธมิตร ใช้ Beacon VC ลงทุนสตาร์ตอัพและฟินเทค

ยุทธศาสตร์การเดินหน้าเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของชีวิตลูกค้า ทำให้ธนาคารกสิกรไทยต้องเร่งสร้างพันธมิตร (partnership) ในทุกด้าน ซึ่งก็จะกระจายผ่านองค์กร 3 หน่วยได้แก่ ตัวธนาคารกสิกรไทยเอง, บริษัทลูก KBTG และบริษัทลูก Beacon Venture Capital ที่ลงทุนในสตาร์ตอัพ

ความคืบหน้าของ Beacon Venture Capital นับจากเปิดตัวเมื่อเดือน มิ.ย. ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 250 ล้านบาท ส่วนปีหน้า 2561 ตั้งเป้าจะลงทุนในสตาร์ตอัพ 4 ราย และลงทุนในกองทุน VC Fund ของต่างประเทศอีก 1 กองทุน

นอกจากธุรกิจในประเทศแล้ว ธนาคารกสิกรไทยยังจะขยายตลาดไปยังภูมิภาค AEC+3 ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการเป็นศูนย์กลางในการชำระเงินข้ามประเทศของภูมิภาค (Regional Settlement Hub) ควบคู่กับการเปิดสาขาแบบปกติในประเทศเพื่อนบ้าน

ที่มา - ธนาคารกสิกรไทย

Blognone Jobs Premium