ความท้าทายของ Waymo กับการดำเนินธุรกิจรถไร้คนขับ

by nismod
12 November 2017 - 16:08

หากใครติดตามข่าวเกี่ยวกับรถยนต์ไร้คนขับอยู่เนืองๆ น่าจะพอเห็นภาพรวมความคืบหน้าในแง่ของความพร้อมของผู้พัฒนารถยนต์ไร้คนขับหลายๆ เจ้า โดยมี Waymo ในเครือ Alphabet เป็นหนึ่งในบริษัทที่เรียกได้ว่าเทคโนโลยีน่าจะล้ำหน้าที่สุดแล้ว

อย่างล่าสุด Waymo ได้เริ่มนำไร้คนขับมาทดสอบวิ่งโดยไม่มีคนนั่งหลังพวงมาลัยแล้ว โดยจะเปิดให้ผู้เข้าร่วมโปรแกรม Early Rider ทดสอบเร็วๆ นี้ด้วย และแน่นอนว่าด้วยความพร้อมระดับนี้ Alphabet เองเตรียมหารายได้จากรถยนต์ไร้คนขับแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า John Krafick ซีอีโอของ Waymo ถูก Sergey Brin ประธานและ Larry Page ซีอีโอ Alphabet บีบเรื่องการหารายได้นี้ด้วย

โจทย์ใหญ่คือฮาร์ดแวร์

อย่างไรก็ตามโจทย์ใหญ่ของ Waymo ไม่ใช่เรื่องความพร้อมของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของฮาร์ดแวร์ในที่นี้คือรถยนต์ อย่างการผลิตและการบำรุงดูแลรักษา ซึ่งแรกเริ่ม Waymo (ณ ตอนนั้นยังเป็นฝ่ายพัฒนารถไร้คนขับภายใต้ Google X) ตั้งใจจะพัฒนารถยนต์ขึ้นมาเองตั้งแต่ต้น แต่สุดท้ายก็หันมาจับมือกับ Fiat Chrysler ในการนำรถยนต์มาดันแปลงแทน

ขณะที่ในแง่ของการบำรุงรักษา Waymo ก็จับมือกับ Avis และ AutoNation ให้ช่วยเหลือด้านนี้แทน ขณะที่ความร่วมมือกับ Ford ก็ล่มไปแล้ว ด้วยไม่สามารถหาข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายพอใจได้

ในทางตรงกันข้าม บริษัทรถยนต์ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเดียวกันนี้ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันแต่คนละขั้ว กล่าวคือบริษัทรถยนต์จะเชี่ยวชาญและมี know-how ด้านการผลิตและซัพพอร์ทรถยนต์ที่ Waymo ไม่มี แต่ขณะเดียวก็ขาดในสิ่งที่ Waymo มีคือเทคโนโลยี

ดังนั้นแนวทางของผู้ผลิตรถยนต์หลายๆ เจ้าจึงอาศัยการลงทุนหรือควบรวมบริษัทเทคโนโลยีด้านรถไร้คนขับแทนอย่าง Delphi ที่ซื้อ nuTonomy และ GM ซื้อ Cruise

การควบรวมบริษัทเทคโนโลยีไร้คนขับของบริษัทรถยนต์นี้เองค่อนข้างได้เปรียบ เมื่อวิศวกรทั้งสองฝั่งสามารถทำงานร่วมกันและเข้าถึงองค์ความรู้อีกฝ่ายได้ง่ายมากขึ้น ไม่รวมในแง่ของการบริหารจัดการและดำเนินการต่างๆ ที่จะง่ายยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับ Waymo ที่อาศัยพาร์ทเนอร์ ซึ่งหากมองในระยะยาวแล้วไม่ต่างกับการยืมจมูกคนอื่นหายใจ

โจทย์รองคือการสร้างฐานลูกค้าบริการ Ride-Hailing

ผู้เล่นใหญ่ในตลาด Ride-Hailing ในสหรัฐตอนนี้คือ Uber และ Lyft ซึ่งสร้างฐานลูกค้าได้ค่อนข้างแน่นและการบริการค่อนข้างกระจายแล้ว ขณะที่ข้อจำกัดในการให้บริการของ Waymo ในระยะแรก คือรถยนต์จะวิ่งให้บริการได้เฉพาะในพื้นที่ืที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้โดยสาร/ลูกค้า ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทีต้องการได้ ซึ่งค่อนข้างสร้างปัญหาในแง่ของการสร้างฐานลูกค้าในช่วงแรก

ดังนั้นในระยะแรกอาจเป็นไปได้ว่า Waymo อาจจะร่วมมือกับ Lyft (หลัง Alphabet ลงทุนใน Lyft ไปแล้ว ไม่รวมกรณีที่กำลังฟ้องร้องอยู่กับ Uber ด้วย) โดยอาศัยแพลตฟอร์ม Lyft และนำรถไร้คนขับของ Waymo ไปวิ่งร่วมกับคนขับทั่วไป

สุดท้าย Waymo อาจหาโมเดลธุรกิจอื่นแทน

ArsTechica มองว่าด้วยข้อได้เปรียบของ Waymo ในแง่ของซอฟต์แวร์ไร้คนขับ ไปจนถึงความสามารถของ Alphabet ในการสร้างแพลตฟอร์มหรือเครือข่ายสำหรับให้บริการรถไร้คนขับ ในท้ายที่สุด Waymo อาจจะหาโมเดลธุรกิจอื่น จากการให้บริการเอง ไปเป็นขายสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ดีไซน์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์หรือผู้ให้บริการ Ride-Hailing เจ้าอื่นแทน แต่ที่แน่นอนคือเราจะเห็นบริษัทเทคโนโลยีนำโดย Waymo เข้ามามีบทบาทด้านการคมนาคมและขนส่งในอีก 10-20 ข้างหน้า

ที่มา - ArsTechnica

Blognone Jobs Premium