ขอยืมคำพูดของ Ford Antitrust มาใช้สักหน่อยครับ "ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ จั่วหัวพูดถึงทีไร เว็บไม่แตกก็ร้อนกันไปเป็นแถบ ๆ" แต่เนื่องจากตอนนี้เยอรมันเข้าหน้าหนาวละ หากเขียนเรื่องนี้แล้วร้อนก็คงดี จะได้ประหยัดค่าทำความร้อนไปได้หลายยูโร ซึ่งตอนนี้ประเด็นนี้กำลังร้อนมาก ๆ ใน blognone ผมไม่ได้เข้าไปอ่านแป้บเดียว กว่าสามร้อยความคิดเห็นไปแล้ว ตามอ่านแทบไม่ทัน วานฝากผู้เกี่ยวข้อง ให้ปักหมุดประเด็นนี้ไว้นาน ๆ หน่อยก็ดีครับ เผื่อจะมีความคิดเห็นที่สี่ร้อย ห้าร้อย ให้ได้อ่านกัน
อันที่จริงประเด็นเรื่องการละเมิดสัญญาอนุญาต (license) ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่นัก ในความเคลื่อนไหวของคนโอเพนซอร์ส มักมีเรื่องนี้เข้ามาเป็นปัจจัยเสมอ เพราะคนใช้โอเพนซอร์สจำนวนไม่น้อยมีแนวคิดที่ว่า "ผมไม่อยากละเมิดสัญญาอนุญาต แต่ก็ไม่อยากเสียเงิน ผมก็เลยใช้โอเพนซอร์ส" (ซึ่งจริง ๆ แล้วปรัชญาโอเพนซอร์สมันมีมากกว่านั้น) คนที่ใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สส่วนมาก เห็นความสำคัญของเรื่องสัญญาอนุญาต การรณรงค์การใช้งานโอเพนซอร์ส จึงมาควบคู่กับเรื่องสัญญาอนุญาตเสมอ
ผมเดาว่า คนที่เห็นความสำคัญของเรื่องสัญญาอนุญาต (ไม่จำเป็นต้องเป็นโอเพนซอร์ส)ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย (เพราะอย่างนี้ไง ไทยเลยไม่เจริญ) คงโคตรจะรำคาญ เมื่อได้อ่านข้ออ้างอันฟังไม่ค่อยจะขึ้น ของพวกใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย เพราะลำพังการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมายมันก็แย่พออยู่แล้ว บางคนยังภูมิใจที่ได้ใช้ หรือบางคนต่อเหน็บแนมว่าคนที่เขาใช้ของถูกกฏหมาย สิ่งแรกที่ควรทำความเข้าใจ ก่อนอ่านบรรทัดต่อไปจากนี้คือ การใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นเรื่องผิดกฏหมาย คนใช้ไม่ควรภูมิใจ คนใช้ไม่ควรต่อว่าผู้อื่นในเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฏหมาย ผู้ที่กระทำความผิดด้วยความภูมิใจ คือผู้ที่ไม่น่าให้อภัย
ประเด็นที่ผมจั่วหัว เรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย ทำให้ประเทศไม่เจริญ ไม่ใช่ประเด็นทางจริยธรรม แต่เป็นประเด็นแนวคิดเศรษฐกิจโลกยุคใหม่
ในเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ที่ทุกอย่างเชื่อมถึงกันเป็น globalization ประเทศที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ จะไม่ใช่ประเทศที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้มาก และเร็วกว่าประเทศอื่นอีกต่อไป ประเทศที่เคยได้ชื่อว่าประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs : New Industrie Countries) ในยุค 80's กำลังประสบปัญหาเรื่องการตลาด และการผลิต ด้วยปัจจัยหลัก ๆ สองประการคือ
เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ขายสินค้าได้ถูกลง อีกทั้งยังมีคู่แข่งใหม่ ๆ ในตลาดอย่าง จีน เกาหลี อินเดีย ไต้หวัน ทำให้จ้าวตลาดอย่าง อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ต้องระสับระส่ายไปตาม ๆ กัน อีกทั้ง ประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่น ๆ ก็กำลังขยับตัวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเช่นกัน ในเมื่อทุกคนต่างเป็นผู้ผลิต แล้วสินค้าที่ผลิตขึ้นมาจะไปขายใคร ? แล้วใครจะเป็นผู้อยู่รอดในการแข่งขันนี้ ?
คำตอบคือ ผู้ที่มี Know-how และ Expertise คือผู้ที่อยู่รอด
ดังนั้นการแข่งขันในโลกเศรษฐกิจยุคใหม่ จะไม่ใช่การแข่งขันทางการผลิตอีกต่อไป เพราะเรากำลังเดินมาถึงจุดอิ่มตัวทางด้านกำลังการผลิต และความเร็วในการผลิต การแข่งขันที่เราจะเห็นในอนาคต คือการแข่งขันกันในเรื่องของ Know-how เพราะผู้ที่ถือครอบครองความรู้ จะสามารถกำหนดทิศทางตลาด และการผลิตได้ สิ่งที่เราเห็นได้ชัดจากระบวนการดังกล่าวคือ การแยกฐานการผลิต และการวิจัยออกจากกัน (ซึ่งฐานการวิจัยจะกำหนดทิศทางทุกอย่างในการผลิต) มีการซื้อขายความรู้ และประสบการณ์กันมากขึ้น ด้วยราคาที่สูงขึ้น
เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย จะด้วยปัญหาการเมือง วิกฤตทาการศึกษา หรืออะไรก็แล้วแต่ เรายังไม่ตื่นตัวเรื่องนี้กันเลยแม้แต่น้อย เรายังมองไม่เห็นภาพเลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ผมไม่เรียกร้องว่าประเทศไทยต้องเจริญ แต่อย่างน้อย เราก็ควรรู้ว่า สิ่งที่เราทำอยู่จะมีผลกระทบอย่างไร อันที่จริงเรื่องวิกฤต Know-how ไม่ได้มีเฉพาะในวงการไอทีเพียงอย่างเดียว แต่มีให้เห็นในทุกวงการ (ดังจะเห็นได้จากนักเรียนไทยส่วนมาก ทั้งเมืองไทย เมืองนอก มักเรียนกันเพื่อเอาวุฒิ) เพียงแต่วงการไอทีค่อนข้าง extreme หน่อย เพราะเป็นวงการที่ Know-how คือทุกอย่าง
การใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย เป็นความชัดเจนที่จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้ใช้ไม่เห็นความสำคัญของ Know-how เพราะหากจะประเมินราคาของ Know-how ที่ถูกลงทุนไป เพื่อผลิตซอฟต์แวร์ตัวหนึ่ง ก็จะรู้ว่า ราคาซอฟต์แวร์ที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดนั้น ถูกแสนถูกเพียงใด บางคนใช้เรื่อง Know-how เป็นข้ออ้างในการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย โดยอาจจะบอกว่า เพราะเห็นความสำคัญของ Know-how ไง ก็เลยโขมยเขาใช้ เพราะเหมือนเป็นการโขมย Know-how ของเขามาด้วย เพราะอย่างนี้ไงครับ ถึงได้มีปัญหา เพราะยังแยกกันไม่ออกเลยว่า อะไรคือ Product อะไรคือ Know-how
คนที่ได้รับผลการะทบจากการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมายมากที่สุด คงไม่ใช่ Microsoft หรือ Adobe แต่เป็นโปรแกรมเมอร์คนไทยและตัวผู้ใช้เอง เพราะรายได้ของผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Microsoft หรือ Adobe สูงกว่ารายได้ที่เสียไปจากซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย อย่างเทียบกันไม่ได้ แต่การซื้อซอฟต์แวร์ผีแผ่นละร้อยมาใช้งาน เป็นการตัดแขนตัดขาของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในเมืองไทย ชนิดที่ไม่ให้ไปผุดไปเกิดกันเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผู้ผลิตรายย่อยจะเอาอะไรไปแข่ง ซอฟต์แวร์รคุณภาพห้าร้อย ขายราคาห้าร้อย ไปแข่งกับซอฟต์แวร์คุณภาพสามหมื่น ราคาร้อยเดียว ได้อย่างไร เผลอ ๆ ไอ้ราคาห้าร้อย อาจโดนเอาไปขายราคาร้อยเดียวอีก คงเซ็งน่าดู เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ยังมีใครอยากจะสร้าง Know-how อีกครับ
ส่วนผู้ใช้แม้ว่าจะไม่โดนผลกระทบมากมาย เหมือนผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายย่อย แต่ก็ต้องรับกรรมที่ตัวเองก่อไว้เหมือนกัน อย่างที่เห็นชัด ๆ คือ ได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่คุณภาพลดลง เพราะซอฟต์แวร์ผีแผ่นละร้อย มักมีสารปนเปื้อนมาให้ผู้ใช้ปวดหัวเล่นอยู่เสมอ ข้อนี้ไม่ใช่ความเชื่อของผม แต่เป็นประสบการณ์ตรง เรามักได้ยินคนไทยบ่นอยู่เสมอ ว่าวินโดวส์ไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ (ใช้ไปสักพักช้า ไวรัส ชอบแฮงค์ ฯลฯ) แต่เพื่อนร่วมงานผมกลับไม่ค่อยเจอปัญหาเหล่านี้ (ผมใช้ GNU/Linux คงเทียบกันไม่ได้) เพราะที่ทำงานผมใช้ซอฟต์แวร์แท้ 100%
หรืออย่างเวลาที่ผมต้องไปล้างเครื่องให้ใคร ก็มักจะได้ยินเสียงบ่นว่า ไม่รู้เครื่องเป็นอะไร ต้องล้างใหม่ทุกสามเดือน สืบไปสืบมาซอฟต์แวร์ผีอื้อซ่า เลยต้องจัดการฟอร์แมตเครื่อง ลงซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้ใช้สำหรับบางโปรแกรม ลงซอฟต์แวร์แท้ให้สำหรับบางโปรแกรม พร้อมสั่งกำชับ ห้ามลงซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย ห้ามลงโปรแกรมที่ไม่รู้ว่ามันเอาไว้ใช้ทำอะไร เวลาผ่านไปเป็นปี ไม่มีปัญหาอีกเลย อย่างนี้ไม่ใช่เพราะของปลอม ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร
หากเราจะมองข้างประเด็นเรื่องของแถมอันไม่พึงประสงค์ จากซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย มันก็ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องให้คิดอยู่ดี นั่นคือ เรื่องราคาซอฟต์แวร์ที่สูงกว่าความเป็นจริง เพราะบริษัทผู้ผลิตย่อมบวก cost เหล่านี้ลงไปในราคาซอฟต์แวร์เสมอ แม้ว่าผู้ที่ใช้ซอพ์แวร์เถื่อน จะไม่ได้รับผลกระทบนี้โดยตรง แต่ก็ขอให้รู้เอาไว้ครับ ว่าคุณกำลังเอาเปรียบผู้ใช้คนอื่นอยู่ ไม่ได้เอาเปรียบบริษัทซอฟต์แวร์อย่าง Microsoft หรือ Adobe เพียงอย่างเดียว
ขอกลับมายังเรื่อง Know-how ในการสร้างซอฟต์แวร์ ว่าการสร้างนิสัยไม่รู้จักคุณค่าของ Know-how การไม่รู้จักเคารพสิทธิผู้อื่นในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน มันจะสร้างนิสัยไม่ดีอื่น ๆ ตามมา คือ การไม่เห็นความสำคัญของกระบวนการสร้างความรู้ ที่สำคัญยิ่งกว่าตัว Know-how มากมายนัก แน่นอนว่า คนใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ต้องมีแนวคิดแบบ ผลนิยม คือไม่รู้จะเสียเงินเยอะไปทำไม ในเมื่อผลสุดท้ายมันเหมือนกัน โดยลืมคิดไปว่า ไอ้ระหว่างทางกว่าจะไปถึงผลน่ะ มันมีกระบวนการอื่น ๆ อีกมากมาย คนที่คิดได้ในเรื่องกระบวนการตรงนี้ จะผลิตซอฟต์แวร์อีกกี่ร้อยกี่พันก็ไม่มีปัญหา แต่คนที่หวังจะเอาแต่ผลอย่างเดียว ก็ต้องคอยผลอย่างเดียวตลอดไป
นอกจากนี้ยังมีประเด็นร้อนในวงการวิจัย ในยุคที่จีนเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกคือเรื่องของ จรรยาบรรณในงานวิจัยและพัฒนา เมื่อวันก่อน ผมได้คุยกับโปรเฟสเซอร์ และหัวหน้าทีมงานวิจัยจาก NSN ในเรื่องความไว้วางใจของบริษัทต่าง ๆ ที่มีต่อบริษัทสัญชาติจีน เนื่องจากบริษัทและรัฐบาลในฝั่งยุโรป และอเมริกา มีประสบการณ์และภาพที่ไม่ดีนัก ต่อรัฐบาลและบริษัทสัญชาติจีน (ที่อาจมีรัฐบาลหนุนหลังอยู่อีกที) เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่บริษัทสัญชาติจีเล่นไม่ซื่อ มีการถ่ายทอดความรู้จากยุโรปและอเมริกาไปยังจีน ในลักษณะที่ไม่โปร่งใสนัก จนในระยะหลัง บริษัทในยุโรป และอเมริกาเลี่ยงที่จะทำสังฆกรรมกับจีน ซึ่งหลายคนคาดว่า ปัญหาดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนในระยะยาว (ตอนนี้ส่งผลบ้างแล้ว ในธุรกิจอาหาร และของเด็กเล่น)
แม้แต่จีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่ มีกำลังบริโภคและการผลิตที่สูง ยังได้รับผลกระทบในเรื่องจรรยาบรรณการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศเล็ก ๆ และไม่มีอะไรไปต่อรองกับเขาอย่างไทย หากยังคิดจะเล่นไม่ซื่ออีก ใครเขาจะอยากมาทำธุรกิจด้วย!
สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรง ไม่มีความรู้เรื่องซอฟต์แวร์และสัญญาอนุญาต แล้วใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ผมค่อนข้างเฉย ๆ เพราะในเมื่อเขาไม่รู้ จะให้ทำอย่างไร แต่คนที่ทำงานด้านนี้โดยตรง จะอ้างไม่ได้ว่าไม่มีความรู้เรื่องนี้ (หากไม่มีความรู้เรื่องนี้ ก็ควรไปหาอาชีพอย่างอื่นทำ ที่ไม่ต้องใช้ความรู้เรื่องนี้) แม้ว่าคนเหล่านี้จะมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้า ในการอ้างความชอบธรรมในการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย แต่เหตุผล ที่เป็นเหตุผลจริง ๆ มีเพียงสองข้าเท่านั้น คือ เสียดายเงิน กับไม่เคารพสิทธิผู้อื่น
สำหรับคนที่เสียดายเงิน คุณไม่ผิดครับ ที่เสียดายเงิน แต่ผิดที่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น และใช่ว่าคุณเสียดายเงิน แต่อยากใช้ หรือมีความจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์บางอย่าง แล้วไม่มีทางเลือกอย่างอื่น ก็อย่างที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ต้นครับ ว่าโอเพนซอร์สคือทางออก หากคุณบอกว่าโอเพนซอร์สใช้ยากเกินไปหรือไม่ดีพอ เลยต้องใช้ของเถื่อน ผมคงประเมินได้แค่ว่า คุณเป็นคนที่เสียดายเงิน และพร้อมจะละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพื่อความสบายของตัวเอง (ประเมินตาม fact ล้วน ๆ)
อันที่จริงประเด็นการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันได้ เพราะความชัดเจนมันมีตั้งแต่แรกแล้ว ได้ชื่อว่าทำผิดกฏหมาย ไม่ว่าคุณจะมีข้ออ้างอย่างไร ข้ออ้างเหล่านั้นก็ไม่สามารถนำมาหักล้างกับความผิดได้
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกที่ BioLawCom.De