WebAssembly ฟอร์แมตไบนารีแบบใหม่สำหรับเว็บเบราว์เซอร์โดยวิศวกรจาก Google, Microsoft, Mozilla, WebKit ที่ทำงานร่วมกันเพื่อรันเว็บแอพให้ได้ความเร็วใกล้เคียงกับแอพแบบเนทีฟ ตอนนี้ถือว่าเป็นฟอร์แมตที่ได้รับการรองรับจากเว็บเบราว์เซอร์เจ้าใหญ่ทั้งหมดสี่เจ้าแล้ว หลังจากที่ล่าสุด Safari และ Microsoft Edge เพิ่งอัพเดตรองรับไป เพิ่มเติมจาก Firefox และ Chrome ที่รองรับไปก่อนหน้านี้ ส่วนเบราว์เซอร์ที่ใช้ฐานจาก Chromium อย่าง Opera และ Vivaldi ก็จะรองรับในอีกไม่นานนัก
การที่เว็บเบราว์เซอร์เจ้าใหญ่รองรับ WebAssembly นั้น ในทางฝั่งนักพัฒนาก็เป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำระบบให้รองรับอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนฝั่งผู้ใช้ทั่วไปก็จะได้ใช้งานเว็บที่เร็วยิ่งขึ้น โดยการที่เว็บเบราว์เซอร์เจ้าใหญ่ทั้งสี่รองรับเทคโนโลยีนี้นับว่าค่อนข้างไวเนื่องจากการเปิดตัวครั้งแรกของ WebAssembly อยู่ในปี 2015 และเข้าสู่ช่วงเบราว์เซอร์พรีวิวเมื่อปี 2016 เท่านั้น
ระบบของ WebAssembly ให้นักพัฒนาสามารถคอมไพล์โปรแกรมภาษาอื่น (ภาษาที่รองรับแล้ว เช่น C, C++, Rust) เป็นฟอร์แมตไบนารีสำหรับเว็บซึ่งทำงานบนเอนจิน JavaScript บนเบราว์เซอร์ได้ทันที (ต่างกับ asm.js ซึ่งเบราว์เซอร์ต้อง parse โค้ดก่อน จึงทำให้ได้ประสิทธิภาพดีขึ้น) โดยตอนนี้ WebAssembly สามารถใช้งานได้แล้วกับงานหลายประเภท อย่างเช่น computer vision, แผนที่สามมิติ, การมิกซ์เสียง, การเข้ารหัส, การจำลองทางฟิสิกส์, การบีบอัดข้อมูล ฯลฯ
หากใครสนใจเทคโนโลยีนี้ สามารถเข้าไปดูได้ที่ WebAssembly Explorer ซึ่งเป็นเครื่องมือออนไลน์สำหรับการเล่นกับคอมไพเลอร์ของ C/C++ และทำให้เข้าใจว่าโค้ดของ WebAssembly ผลิตอย่างไร รวมถึงใช้งานในเบราว์เซอร์อย่างไร ส่วนใครที่สนใจในระดับสูงสามารถศึกษาได้จาก WebAssembly binaries เครื่องมือเพื่อให้เข้าใจวิธีการว่าโค้ดจาก WebAseembly ถูกเอนโค้ดที่ระดับไบนารีอย่างไร
ที่มา - Mozilla