Lamborghini และ MIT จับมือพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า Terzo Millennio

by ตะโร่งโต้ง
23 November 2017 - 07:17

Lamborghini เผยโครงการรถสร้าง Terzo Millennio ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ Lamborghini พัฒนาร่วมกับ MIT ชูจุดเด่นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแต่เป็นรถสปอร์ตที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ยังมีการพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ ที่จะใช้วัสดุโครงสร้างและตัวถังที่สามารถตรวจสอบรอยแตกร้าวของตัวเองได้ แถมยังทำหน้าที่สนับสนุนแบตเตอรี่โดยจะช่วยกักเก็บประจุไฟฟ้าได้ด้วย

Terzo Millennio เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า "สหัสวรรษที่สาม" ที่มันได้ชื่อนี้ก็เพราะผู้พัฒนาพยายามสื่อถึงความล้ำหน้าทางด้านงานออกแบบและงานวิศวกรรม โดยเฉพาะเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์เรื่องการสร้างคาร์บอนไฟเบอร์แบบพิเศษที่จะถูกนำมาใช้เป็นชิ้นส่วนโครงสร้างและตัวถังของรถ

หนึ่งในโจทย์ท้าทายที่สำคัญของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า คือการเลือกใช้แบตเตอรี่ที่สามารถเก็บประจุได้มากที่สุดโดยที่ยังคงขนาดและน้ำหนักให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่สิ่งที่ทีมวิจัยของ MIT ตัดสินใจพัฒนาไม่ใช่การเฟ้นหาแบตเตอรี่ที่ดีที่สุดหรือปรับปรุงแบตเตอรี่ให้มีความจุมากยิ่งขึ้น หากแต่พวกเขาเลือกที่จะใช้คาร์บอนไฟเบอร์ที่มีโครงสร้างระดับนาโนเมตรเป็นรูปหลอด มาใช้เป็นตัวเก็บประจุยิ่งยวด

เทคโนโลยีตัวเก็บประจุยิ่งยวดที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่เพิ่งค้นพบและพัฒนากันมาไม่นาน มันเป็นการใช้โครงสร้างกราฟีนมาทำเป็นตัวเก็บประจุ โดยคุณสมบัติโดดเด่นของตัวเก็บประจุยิ่งยวดนั้นมีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความจุที่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากกว่าตัวเก็บประจุทั่วไปหลายล้านเท่า อีกทั้งยังสามารถเก็บประจุไฟฟ้าเอาไว้ในตัวเองได้นานหลายชั่วโมงโดยมีการสูญเสียพลังงานน้อยมาก แตกต่างจากตัวเก็บประจุทั่วไปที่ไม่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้นานถึง 1 นาที

ด้วยข้อดีที่กล่าวมา ทำให้คาดกันว่าตัวเก็บประจุยิ่งยวดจะถูกนำมาใช้งานแทนแบตเตอรี่ได้ในอนาคต เนื่องจากตัวเก็บประจุยิ่งยวดนั้นชาร์จไฟได้เร็วกว่าแบตเตอรี่ แถมการปล่อยประจุไฟก็ไม่ก่อให้เกิดความร้อน ที่สำคัญตัวเก็บประจุยิ่งยวดไม่ได้อาศัยปฎิกิริยาเคมีในการกักเก็บพลังงานไว้ในตัวมันเอง จึงถือว่ามีข้อดีในแง่ที่เอื้อต่อการออกแบบรูปร่าง และลดความเสี่ยงจากอันตรายของการระเบิดและการรั่วไหลของสารเคมีในตัวแบตเตอรี่ด้วย

การที่ทีมวิจัยของ MIT เลือกใช้คาร์บอนไฟเบอร์แบบพิเศษมาทำหน้าที่เป็นตัวเก็บพลังงานไฟฟ้าให้กับ Terzo Millennio ยังมีข้อดีอีกประการ คือ เรื่องการตรวจสอบความสมบูรณ์ของชิ้นส่วนโครงสร้างและตัวถัง ด้วยเหตุที่คาร์บอนไฟเบอร์แบบพิเศษนี้สามารถเก็บและคายประจุไฟฟ้าได้ นั่นหมายความว่าเมื่อโครงสร้างของมันเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียหาย ย่อมทำให้ความสามารถในการเก็บและคายประจุเปลี่ยนแปลงไป กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณไฟฟ้าที่สามารถตรวจจับได้ และนั่นจะนำไปสู่การพัฒนาระบบตรวจสอบตนเอง ที่จะทำให้ Terzo Millennio รับรู้ได้เองทันทีเมื่อชิ้นส่วนของโครงสร้างและตัวถังของมันที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์แบบพิเศษเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียหาย

ข้อตกลงความร่วมมือพัฒนา Terzo Millennio ระหว่าง Lamborghini และ MIT นี้จะมีระยะเวลา 3 ปี โดยทีมวิจัย MIT จะได้รับเงินสนับสนุนราวปีละ 200,000 ยูโร โดยตั้งเป้าว่าจะหาข้อสรุปเรื่องการพัฒนาวัสดุให้สำเร็จในปีแรก จากนั้นจะพัฒนาระบบเก็บและคายประจุไฟฟ้าให้ใช้การได้ปีถัดไป และปีสุดท้ายของแผนงานจะเป็นการสร้างชิ้นส่วนจริงสำหรับ Terzo Millennio

ที่มา - The Verge, MIT News

Blognone Jobs Premium