เก็บตกสัมมนาเทรนด์อีคอมเมิร์ซปีหน้า เติบโต แข่งขันสูง รายใหญ่แย่งจับจองพื้นที่สื่อ

by sunnywalker
4 December 2017 - 04:33

Priceza ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา จัดงาน Priceza E-Commerce Award ภายในงานมีสัมมนาโดยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซโดยแบ่งเป็นสามช่วงคือ เทรนด์อีคอมเมิร์ซในปี 2018, โลจิสติกส์ และ E-Payment

แนวโน้มอีคอมเมิร์ซโดยรวมในปี 2018

สัมมนาช่วงแรกพูดเรื่องแนวโน้มอีคอมเมิร์ซในปี 2018 ผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย

  • ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร GroupM
  • ผรินทร์ สงฆ์ประชา ผู้ก่อตั้ง และประธานบริหาร Nasket
  • ศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Shopee
  • ยุทธนา จิตจรุงพร VP-ecommerce online business Tesco Lotus

จากซ้าย ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร GroupM, ผรินทร์ สงฆ์ประชา ผู้ก่อตั้ง และประธานบริหาร Nasket, ยุทธนา จิตจรุงพร VP-ecommerce online business Tesco Lotus, ศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Shopee และ ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza

ศิวัตร จาก GroupM ระบุสิ่งที่จะได้เห็นในวงการอีคอมเมิร์ซปีหน้านี้คือ C2C (Consumer to Consumer) หรือการซื้อขายกันเองในกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยกันมานานแล้ว แต่จะชัดเจนมากขึ้นใน marketplace ช่องทางต่างๆ ตัวผลักดันสำคัญที่ทำให้ C2C เกิดขึ้นแพร่หลายคือระบบชำระเงินที่สะดวกกว่าเดิม mobile banking ช่วยให้ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อ C2C คึกคัก เดี๋ยว B2C (Business to Consumer) ก็จะคึกคักมากขึ้นตามไปด้วย และยังทำให้คนมีมากกว่าหนึ่งอาชีพ ถือเป็นเทรนด์ทั่วโลก

ศิวกร จาก Shopee ระบุว่านอกจาก C2C แล้วก็จะมีเจ้าใหญ่มาอำนวยความสะดวกให้รายเล็กขายของง่ายขึ้น การแข่งขันสินค้าอีคอมเมิร์ซจะเห็นชัดมากในปี 2018 จำนวนสินค้าใน marketplace จะเพิ่มขึ้นมหาศาล

ยุทธนา จาก Tesco Lotus บอกว่า พฤติกรรมผู้บริโภคจะคุ้นเคยการซื้อของออนไลน์มากขึ้น เพราะผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย อีกพฤติกรรมที่จะตามมาคือ คุ้นชินกับการซื้อของลดราคา ซึ่งเจ้าใหญ่จะได้เปรียบ

ผรินทร์ จาก Nasket บอกว่าเทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 2018 คือแบรนด์ใหญ่จะแย่งชิงพื้นที่สื่อใหญ่และสื่อออนไลน์มากเพื่อต้องการให้คนเห็น ดังนั้นเราจะมีโอกาสได้เห็นการทำโฆษณาของแบรนด์กลางและเล็กที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์แบบเฉพาะตัวมากขึ้น เพราะไม่สามารถทุ่มเงินชิงพื้นที่สื่อได้เท่ารายใหญ่แน่นอน

E-Logistics

สัมมนาช่วงที่ 2 หัวข้อ E-Logistics – Trends to Follow ผู้เข้าร่วมสัมมนามี

  • สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ SHIPPOP
  • สันทิต จีรวงศ์ไกรสร ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค ฝ่ายดำเนินงาน Lalamove
  • โยจิ ฮามานิชิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส

จากซ้าย เฟื่องลดา สรานี สงวนเรือง พิธีกร, สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ SHIPPOP, สันทิต จีรวงศ์ไกรสร ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค ฝ่ายดำเนินงาน Lalamove, โยจิ ฮามานิชิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส

วิทยากรทั้งสามมีความเห็นตรงกันว่าการขนส่งคือหนึ่งในประสบการณ์ลูกค้าที่ส่งผลต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้นๆ ด้วย บางแบรนด์ใช้จุดขายส่งไวเป็นตัวชูโรงหลัก ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่ถ้าแบรนด์อีคอมเมิร์ซต้องทำระบบขนส่งของตัวเอง

สุทธิเกียรติ จาก SHIPPOP ให้คำตอบว่าไม่จำเป็น เพราะเรื่องการขนส่งมีมืออาชีพในตลาดนี้มาก และจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านการขนส่ง หากแบรนด์ทำระบบขนส่งเอง นั่นหมายความว่าแบรนด์ต้องมาจับงานขนส่งซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยสูงมาก ถ้าโฟกัสที่การขายสินค้าได้อย่างเดียวจะดีกว่า

โยจิ จากเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส พูดถึงบริษัทแมวดำผู้ให้บริการขนส่งในญี่ปุ่นว่า มี network เข้มแข็ง วงจรการส่งพัสดุมีความเสถียรสูงมาก แต่ก็ยังจำกัดอยู่ที่วันละสามครั้งคือ เช้า สาย เย็น ไม่บ่อยไปกว่านี้ หากอีคอมเมิร์ซต้องการมีระบบขนส่งของตัวเองต้องมีจุดประสงค์ที่ชัด เช่น ส่งของภายในวันเดียว ภายใน 3 ชั่วโมง เป็นต้น

โยจิ จากเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส

ในด้านการใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบขนส่ง ให้การขนส่งยังพื้นที่จังหวัดห่างไกลโยจิ จากเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรสให้มุมมองต่อเรื่องนี้ว่า ถ้ากระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบเป็นระบบดิจิทัลได้จะดีมาก ขั้นตอนเดียวที่เป็นออฟไลน์คือตอนรับของหน้าบ้าน ฉะนั้นประสบการ์ณดิจิทัลต้องเสถียร คุณภาพบุคลากรก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งการเก็บรักษาวัสดุ การขับขี่ การอบรมขับขี่ปลอดภัย จากประสบการณ์การทำงานของตนพบว่ามีพาร์ทเนอร์บางรายมานั่งกับคนขับรถส่งของด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าคนส่งของจะส่งของได้เป็นอย่างดี

เมื่อต้องทำนายอนาคตโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ สุทธิเกียรติ จาก SHIPPOP ระบุว่า อนาคตจะแชร์โลเคชั่นผ่านแอพในการรับของแทนการระบุที่อยู่ ช่วยให้ส่งของแม่นยำขึ้น ด้าน โยจิ จากเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส ระบุว่าระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิจะเป็นเทรนด์ในอนาคต เช่น ของกิน ขนม ของหวาน เนื้อสัตว์ ปลาดิบ ญี่ปุ่นมีแล้ว และถ้าที่ไทยมีก็จะสร้างโอกาสมหาศาลให้ตลาด

E-Payment

หัวข้อสุดท้ายของการสัมมนาคือ E-Payment – The Present & Future ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย

  • ศุภวิทย์ หงส์อมรสิน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย AirPay
  • กิติพงศ์ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการ mPay
  • สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย
  • สมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด

จากซ้าย ศุภวิทย์ หงส์อมรสิน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย AirPay, กิติพงศ์ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการ mPay, สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย, สมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด

แบรนด์อีคอมเมิร์ซบางรายใช้กลยุทธ์ Collect on delivery หรือ COD เก็บเงินลูกค้าปลายทาง ผู้ดำเนินรายการถามว่าในมุมมองของคนทำ E-Payment มองเรื่องนี้อย่างไร

กิติพงศ์ จาก mPay บอกว่าในมุมของคนทำ E-Payment เทรนด์ COD เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ เพราะมันไม่เกิดการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ COD ตอบโจทย์ลูกค้าเรื่องความมั่นใจในการซื้อสินค้า มันเลยเติบโต

สมหวัง จาก PayPal บอกว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าคนยังนิยมการเจอหน้าและจ่ายเงิน แต่หัวใจหลักอีคอมเมิร์ซคือจ่ายก่อนแล้วส่งของ แบรนด์หลายเจ้าจึงเริ่มมีแนวโน้มไปใช้วิธีเก็บเงินปลายทาง อย่างไรก็ตามยังมีแบรนด์เล็กที่ใช้ E-Payment มาก เพราะยังไม่มั่นใจในลูกค้าเต็มที่ อนาคตแนวโน้ม COD จะลดลงเพราะการบริการลักษณะนี้มีต้นทุนจนแบรนด์หลายรายจะเริ่มคิดว่าไม่คุ้ม หันมาใช้ช่องทาง E-Payment

สมคิด จากธนาคารกสิกรไทยระบุว่า ต่อไปการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์แพร่หลายแน่นอน เพราะนอกจากพร้อมเพย์แล้ว อนาคตจะมีฟีเจอร์ช่วยการจ่ายเงินมากขึ้น เช่น Request to Pay คือการทวงเงินนั่นเอง ระบบจะส่งข้อความทวงเงินไปกองที่ i-banking ของผู้รับ สามารถกดยืนยันการจ่ายเงินได้ พร้อมเพย์ยังใส่ลงไปใน QR code มาตรฐานการจ่ายเงินได้ สามารถใส่ขอมูลบัตรเครดิตได้ หรือใส่รหัสพร้อมเพย์ลงไปได้ หรือใส่รูปแบบอื่นเช่น ระบุเลขสั่งซื้อสินค้า คนขายจะรู้ได้ว่าคนที่จ่ายเงินมาสั่งสินค้าอะไร

Blognone Jobs Premium