เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) มีการแถลงข่าวเปิดตัวเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ที่สมาคมนักข่าวฯ เผอิญว่าผมไปสาย ไปถึงตอนเค้ากำลังจะเลิกพอดี ขอใช้วิธีแปะเนื้อหาจากที่อื่นแทนครับ
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการและผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าว ถึงที่มาและจุดประสงค์ของเครือข่ายดังกล่าว่า คือการรวมตัวกันของเครือข่ายพลเมืองผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ที่มีความเชื่อร่วมกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร การแสดงออก การปกป้องสิทธิพลเมือง เสรีภาพของสื่อออนไลน์ และสนับสนุนการเติบโตเชิงคุณภาพของสื่อพลเมือง ทั้งนี้ เครือข่ายดังกล่าวไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในขั้วการเมืองหากแต่ต้องการ ปกป้องสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมการแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบของพลเมืองอินเตอร์เน็ต พร้อมทั้งจะผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้มีความชัดเจนในเรื่องการจำแนก อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ออกจากเสรีภาพในการสื่อสาร และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล หลักสิทธิมนุษยชน
สฤนี อาชวานันทกุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ในภาวะที่สังคมไม่เป็นประชาธิปไตยมากนัก ผู้คนจะเข้าหาแหล่งแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายในอินเทอร์เน็ต ยิ่งสังคมมีความขัดแย้ง คนก็ยิ่งอยากใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง แสดงความคิดเห็น แต่ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ยังมีความล่อแหลมที่จะถูกลิดรอน กดขี่โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต จึงอยากจะร่วมแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาจุดร่วมว่าควรมองสังคมออนไลน์อย่างไร คาบเกี่ยวกับสังคมจริงอย่างไร เป็นไปได้ไหมในการหาทางสายกลางไปสู่สังคมอุดมปัญญา มีสิทธิเสรีภาพพร้อมไปกับความรับผิดชอบด้วย
ที่เหลืออ่านต่อในประชาไท หรือไทยรัฐ
ถัดจากนี้เป็นแถลงการณ์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ต
เครือข่ายพลเมืองเน็ต Thai Netizen Network
เราคือใคร
เราคือการรวมตัวกันของกลุ่มคนในลักษณะเครือข่ายของพลเมืองผู้ใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่ง มีความเชื่อมั่นร่วมกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพ การแสวงหาข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น แสดงออก การปกป้องสิทธิพลเมือง เสรีภาพของสื่อออนไลน์ และการสนับสนุนการเติบโตเชิงคุณภาพของสื่อพลเมือง (Civic Journalism)
จุดยืนของเรา
เรารวมตัวเพื่อทำงานรณรงค์เชิงนโยบายในระดับประเทศเพื่อการธำรงและปกป้อง อิสรภาพในโลกไซเบอร์ (Cyber-liberty) ซึ่งหมายถึงสิทธิพลเมืองเน็ต (Netizens' rights) และเสรีภาพสื่อออนไลน์ (Freedom of online media) บนพื้นฐานของหลัก 5 ประการดังนี้
- สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึง และ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น สาระบันเทิง และอื่นๆ (Right to Access)
- สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งความคิดเห็น ความรู้สึก ต่อเรื่อง สังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ชีวิต ฯลฯ (Freedom of Expression)
- สิทธิในการความเป็นส่วนตัว (Right to Privacy) และการได้รับการปกป้องคุ้มครองอันปลอดภัยจากการสอดส่องโดยรัฐและหน่วยงานอื่นๆ (Surveillance)
- ความรับผิดชอบร่วมกันของชุมชนสื่อออนไลน์ การกำกับดูแลกันเอง (Self-regulation) ไม่ใช่การปิดกั้น (Censorship) โดยไม่มีขอบเขตจากหน่วยงานรัฐ การสร้างความชัดเจน และ กำหนดเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการสื่อสารซึ่งแตกต่างจากอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
- ความเสมอภาค ความเป็นเจ้าของร่วมกัน ความเป็นสมบัติสาธารณะ การไม่ผูกขาดทางเศรษฐกิจ และทรัพย์สินทางปัญญา (Common Property)
ข้อเสนอต่อรัฐและสังคม ต่อเรื่องการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ตและการบังคับใช้กฎหมาย
1.รัฐ ต้องเน้นการกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมอิสรภาพการสื่อสารของสื่อออนไลน์มากกว่า การควบคุม โดยต้องสนับสนุนกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำหนด นโยบายและการบังคับใช้กฎหมาย
2.รัฐสภา ควรมีการปรับแก้กฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้มีความชัดเจนในการเรื่องการจำแนก อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ออกจาก เสรีภาพในการสื่อสาร ทั้งนี้ควรมีกระบวนการที่ปกป้องสิทธิพลเมืองเน็ตและเสรีภาพของสื่อออนไลน์ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และหลักสิทธิมนุษยชนในการสื่อสาร
3. พรรคการเมือง กลุ่มทางการเมือง และ สังคม ไม่ควรคุกคามสิทธิพลเมืองเน็ตและเสรีภาพสื่อออนไลน์ ด้วยวิถีทางการเมืองและมาตรการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อีก ทั้งไม่ควรใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทำลายล้างทางการ เมือง โดยปราศจากการเคารพหลักการสากลว่าด้วยเรื่องเสรีภาพการสื่อสารผ่านสื่อ อินเทอร์เน็ตใครที่จะเป็นสมาชิกกลุ่มได้บ้าง
ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ทุกรสนิยมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ การใช้ชีวิต ที่เข้าถึงและใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ด้วยความเชื่อมั่นพื้นฐานเรื่องเสรีภาพอย่างเสมอภาคของปัจเจกบุคคลและสังคม ในเรื่องการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการกำกับดูแลบนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน
จุดยืนทางการเมืองของกลุ่มคือ
เครือข่ายพลเมืองเน็ต เคารพรสนิยมและความเชื่อที่แตกต่างทางการเมืองของทุกคน และเราประกาศตัวเป็นกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ (Non-partisan) ทั้งนี้ เรามีจุดยืนพื้นฐานร่วมกันคือความเชื่อมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องเพราะสิ่งนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร และ สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการธำรงอิสรภาพแห่งโลกไซเบอร์
สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มได้อย่างไรบ้าง
เพียงส่ง Email address ของคุณมาที่ freethainetizen@gmail.com ทั้งนี้จะสมัครเป็นสมาชิกแบบนิรนาม และ เปิดเผยตัวตน ก็ได้ เราจะรวบรวมรายชื่อและที่ติดต่อของท่านไว้เป็นฐานสมาชิกเพื่อส่งต่อข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมของกลุ่มต่อไป
กิจกรรมกลุ่มมีอะไรบ้าง
- จัดเวทีเสวนา สัมมนา ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิพลเมืองเน็ต และเสรีภาพสื่อออนไลน์
- ออกแถลงการณ์ ล่ารายชื่อ แถลงข่าว แสดงจุดยืนของกลุ่มในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
- ฝึกอบรม พัฒนาทักษะพลเมืองเน็ต และสื่อพลเมืองในประเด็นต่างๆ
- จัดตั้งกองทุนและเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายต่อพลเมืองเน็ตที่ได้รับผลกระทบทางกฎหมายใต้โครงการ Free Thai Netizen !
- ติดตาม มีส่วนร่วมในการแก้ไข พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวมถึงกฎกระทรวงและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ศึกษา เผยแพร่ พัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองน็ตและเสรีภาพสื่อออนไลน์
- จัดเวที แลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างประเทศในเรื่องนโยบายการกำกับดูแลสื่ออินเทอร์เน็ต
- แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ และสร้างความเข้าใจหลักการของกลุ่มให้ขยายวงกว้างขึ้น
โครงร้างของกลุ่มเป็นอย่างไร
เครือข่ายพลเมืองเน็ตเป็นการรวมตัวหลวมๆ ของพลเมืองเน็ตผู้รักในเสรีภาพ เบื้องต้น ได้มีคณะกรรมการดำเนินงาน จำนวน 7 คน เพื่อดำเนินการจัดตั้งกลุ่มในระยะยาวต่อไป โดยมีโครงการทดลองจัดตั้งโครงการเป็นระยะเวลา 6 เดือน
คณะกรรมการดำเนินงาน และที่ปรึกษา มีรายชื่อดังต่อไปนี้
ที่ปรึกษา
- รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
- คุณสมชาย หอมละออ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
คณะกรรมการดำเนินงาน เครือข่ายพลเมืองเน็ต
- สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการ
- จีรนุช เปรมชัยพร กรรมการ
- ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล กรรมการ
- อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการ
- ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กรรมการ
- สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการ
- สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ และผู้ประสานงาน