ระบบ AI ของกูเกิล ช่วย NASA วิเคราะห์ภาพถ่าย ค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกเพิ่มอีก 2 ดวง

by mk
15 December 2017 - 00:20

กูเกิลเผยข้อมูลว่า เข้าไปช่วย NASA แยกภาพจากกล้องโทรทรรศน์บนยานอวกาศ Kepler ที่มีภารกิจในการค้นหา "ดาวเคราะห์" ลักษณะเดียวกับโลกในระบบสุริยะจักรวาลอื่น (exoplanet)

ยาน Kepler ถูกส่งออกไปยังอวกาศตั้งแต่ปี 2009 และถ่ายภาพทางช้างเผือกส่งกลับมาทุก 30 นาที มีภาพถ่ายดาวฤกษ์กว่า 200,000 ดวงที่ต้องมาวิเคราะห์ ถือเป็นข้อมูลมหาศาลที่ NASA ต้องทุ่มทรัพยากรมาประมวลผล

ปัญหานี้แก้ได้ด้วย machine learning และทีม AI ของกูเกิลก็เข้าไปช่วยสร้างโมเดล TensorFlow เพื่อแยกแยะดาวเคราะห์ออกจากวัตถุอื่นๆ ด้วยเทคนิค pattern recognition ผลการทดสอบโมเดลของกูเกิลกับข้อมูลที่ตรวจสอบแล้ว พบว่ามีความแม่นยำ 96%

หลังนำไปใช้งานจริง โมเดลของกูเกิลลองตรวจสอบดาวฤกษ์ 670 ดวงที่รู้ว่ามีดาวเคราะห์ exoplanet อย่างน้อย 2 ดวงโคจรอยู่ก่อน ผลคือ AI ค้นพบดาวเคราะห์เพิ่มอีก 2 ดวง (Kepler 80g และ Kepler 90i) โดยดาว Kepler 90i ถือเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ของระบบสุริยะ Kepler 90 และถือเป็นระบบสุริยะอันแรกที่ค้นพบว่ามีดาวเคราะห์โคจรเกิน 8 ดวงด้วย (นอกเหนือจากระบบสุริยะที่เราอยู่)

กูเกิลสรุปปิดท้ายว่างานเพิ่งผ่านไปแค่ 670 ดวง จากทั้งหมด 200,000 ดวง เส้นทางยังอีกยาวไกล

ที่มา - Google, NASA

Blognone Jobs Premium