การประมูลคลื่น 1800MHz ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า 2561 มีประเด็นถกเถียงมากมาย
บริษัทที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมและการประมูลคลื่นความถี่ NERA Economic Consulting (เคยเป็นที่ปรึกษาของ กสทช. ในการประมูลคลื่นย่าน 2100MHz ในปี 2552) ก็ออกรายงาน whitepaper พูดถึงความเสี่ยงของการประมูลครั้งนี้ (Spectrum Auction Risks Leaving Thailand
Stranded in a Mobile Data Slow Lane)
Hans-Martin Ihle ที่ปรึกษาอาวุโสของ NERA มาให้ความเห็นต่อการประมูลครั้งนี้ที่ประเทศไทย (ภายใต้การจ้างศึกษาของ dtac ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของการประมูล) ให้ความเห็นสำคัญ 2 ประการคือ เมืองไทยกำลังประสบปัญหาคลื่นไม่พอใช้จนทำให้เน็ตช้า และราคาตั้งต้นของการประมูลรอบใหม่นั้น "แพงเกินไป" และอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
หมายเหตุ: ตัวแทนจาก NERA แถลงข้อมูลจากงานวิจัยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 โดยมี dtac ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญต่อการประมูล เป็นผู้เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง
NERA บอกว่าปัญหาสำคัญของประเทศไทยในภาพกว้างคือ คลื่นความถี่โทรคมนาคมเริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้งาน mobile data ในยุค 4G ปัจจุบันหรือ 5G ในอนาคต เหตุเพราะคลื่นความถี่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นคลื่นที่ใช้งานมาตั้งแต่ยุค 2G และถูกนำมาจัดสรรใหม่ผ่านการประมูล (แต่ยังเป็นคลื่นย่านเดิม)
ที่ผ่านมาหลายปี กสทช. กลับไม่สามารถนำคลื่นย่านอื่นๆ เช่น 2300MHz หรือ 2600MHz มาใช้งานด้านโทรคมนาคมได้เลย และถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป ก็จะทำให้คลื่นความถี่ในไทยไม่เพียงพอต่อการใช้งาน 5G ในอนาคต
หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยยังไม่มีมีคลื่นใหม่สำหรับ 4G เลย (ถ้านับคลื่น 2300MHz ที่ "ว่าจะ" ประมูล ก็จะมีคลื่นใหม่ปริมาณ 60MHz) สถานการณ์นี้ทำให้ไทยด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียที่มีคลื่นใหม่ถึง 280MHz หรือแม้แต่พม่าเองที่มีคลื่นใหม่แล้ว 20MHz ล้ำหน้าไทยไปอีก
ปัญหาคลื่นไม่พอใช้งาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของอนาคต เพราะในปัจจุบันก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของเน็ต 4G ในบ้านเราแล้ว
NERA ศึกษาเปรียบเทียบบริการ 4G ในประเทศต่างๆ ที่ตัวเองมีข้อมูล โดยใช้สถิติจาก OpenSignal: The State of LTE พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ให้บริการ 4G (coverage) ค่อนข้างดี คือครอบคลุม 77% ของผู้ใช้บริการโครงข่าย
แต่พอเป็นเรื่องความเร็ว 4G ประเทศไทยกลับอยู่อันดับเกือบท้ายๆ คือมีความเร็วเฉลี่ยที่ 9.40 Mbps เท่านั้น (แชมป์โลกคือสิงคโปร์ 46.64 Mbps ข้อมูลทั้งหมดดูได้ตามลิงก์ข้างต้น) ข้อมูลนี้ยังสอดคล้องกับ สถิติจาก Ookla ที่เพิ่งออกมา
NERA มองว่าถ้า กสทช. ยังไม่สามารถปลดล็อคนำคลื่นย่านใหม่ๆ มาใช้งานได้ ปัญหาอินเทอร์เน็ตมือถือไทยก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะคลื่นมีเท่าเดิม สวนทางกับความต้องการใช้งานที่มีมากขึ้น แม้ขยายสถานีฐานเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด ยังไงก็ต้องใช้คลื่นเพิ่มขึ้นอยู่ดี
ประเด็นถัดมาคือ NERA วิจารณ์แนวทางการประมูลคลื่นรอบใหม่ (1800MHz และ 900MHz) ของ กสทช. ที่ยึดแนวทางใช้ราคาของการประมูลครั้งก่อนเป็นตัวตั้ง ว่าจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในระยะยาว
คลื่นชุด 900MHz: ราคาไทยเป็นสถิติโลก
คลื่น 900MHz ก้อนนี้เป็น 2x5MHz โดยยึดเอาราคาการประมูลเมื่อปี 2558 คราวที่ JAS ชนะ AIS มาเป็นตัวตั้ง ราคาเฉลี่ยต่อ 2x5MHz เดิมอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนราคาตั้งต้น (reserve price) ของการประมูลรอบใหม่อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท
ถ้าเทียบราคาคลื่น 850/900MHz ของการประมูลในประเทศต่างๆ จำนวน 39 ประเทศ ที่ NERA รวบรวมมาในช่วงปี 2007-2017 จะพบว่าราคาของประเทศไทย แพงกว่าราคาที่อยู่ตรงกลาง (median price) ของผู้ชนะการประมูลในประเทศต่างๆ ถึง 6 เท่าตัว (ราคา median ของประเทศต่างๆ อยู่ที่ราว 5,000 ล้านบาทต่อ 2x5MHz)
คลื่นชุด 1800MHz: ราคาไทยอยู่ในกลุ่มแพงกระโดด
ส่วนคลื่นย่าน 1800MHz ที่แบ่งสล็อตเป็น 2x15MHz จำนวน 3 สล็อต ถือเป็นจุดหลักของการประมูลครั้งนี้ ราคาสุดท้ายของการประมูลในปี 2558 (ที่ True และ AIS ชนะ) จบที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท (นับต่อ 2x15MHz) และราคาตั้งต้นของการประมูลรอบใหม่คือ 37,457 ล้านบาท
ราคานี้ไม่ใช่สถิติโลกเหมือนกับคลื่น 900MHz (แชมป์คือแอลจีเรีย ที่ราคาสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท!!!) แต่จากแผนภาพก็จะเห็นว่าอยู่ในกลุ่มราคาแพงกระโดด (mild outliers) โดยราคาที่อยู่ตรงกลาง (median price) ของตลาดโลก 57 ประเทศ อยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท
ข้อเสนอของ NERA ในเรื่องราคาตั้งต้นการประมูลคลื่นแพงเกินไป คือ กสทช. ควรปรับลดราคาตั้งต้นของคลื่นลงมา ตามโมเดลการคำนวณของ NERA ระบุว่ารายได้จากการประมูลย่อมลดลง (กราฟแท่งสีแดง) แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้บริโภค (กราฟแท่งสีเขียว) จะเพิ่มขึ้น
หาก กสทช. ลดราคาคลื่นลงมา 80% จากเดิม ให้เท่ากับราคา median price ของประเทศอื่นๆ NERA ประเมินว่าผลประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวจะมีถึง 3 เท่าของรายได้ที่สูญเสียไป หากลดราคาในสัดส่วนที่น้อยลง เช่น ลด 50% หรือ 25% ผลประโยชน์ต่อประเทศก็จะมีสัดส่วนลดลง แต่ก็ยังได้มากกว่าเสีย
ข้อเสนอทั้งหมดของ NERA มีด้วยกัน 4 ข้อ ดังนี้
หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดในการประเมินของ NERA สามารถอ่านเอกสารฉบับเต็มได้ด้านล่าง หรือบน Scribd