รีวิว Google Home Mini น้องเล็กในครอบครัวลำโพงอัจฉริยะจากกูเกิล

by BlackMiracle
17 December 2017 - 04:18

เราเห็นความพยายามของกูเกิลในการดัน Google Assistant มาตลอด มีตั้งแต่ในสมาร์ทโฟนจนถึงฮาร์ดแวร์ที่กูเกิลทำเองอย่างครอบครัว Google Home ที่ขณะนี้มีสมาชิกถึง 3 รุ่นด้วยกัน คือ Google Home รุ่นดั้งเดิม, Google Home Mini และพี่ใหญ่อย่าง Google Home Max ที่โฆษณาว่าเสียงดีมาก

ส่วนตัวผมใช้ Google Home รุ่นดั้งเดิมมาตั้งแต่มันวางขายใหม่ๆ ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีในระดับหนึ่งทั้งตัว Assistant เองที่พัฒนาฟีเจอร์และความสามารถใหม่ๆ เป็นประจำ และตัวฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานได้ไม่มีปัญหาอะไร คุณภาพเสียงก็จัดว่าดีทีเดียวสำหรับลำโพงขนาดไม่ใหญ่มาก

แต่เมื่อบ้านเรามีหลายห้องที่อยากใช้งานก็ดูจะสิ้นเปลืองไปสักนิดถ้าจะซื้อลำโพงราคาราว 4,000 บาทมาวางไว้หลายๆ ห้อง มองไปทาง Amazon ก็มี Echo Dot ที่ดูจะลงตัวสุด เพราะราคาไม่แรงมาก และเราก็ไม่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดีมากในทุกจุดที่ใช้งาน อย่างไรก็ตาม Echo Dot มีปัญหากับการใช้งานในประเทศไทยหลายอย่าง จนแทบจะไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก ผมเลยได้แต่รอให้กูเกิลออก Google Home ขนาดเล็กมาบ้าง

การรอนี้ไม่นานเกินไป เพราะกูเกิลคงทราบจุดอ่อนตรงนี้ดี จึงเปิดตัว Google Home Mini เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในราคาเป็นมิตรเพียง 49 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,600 บาท ไม่รวมภาษีของรัฐ) ผมจึงตัดสินใจซื้อมาใช้งานทันที และหลังจากผ่านมาระยะหนึ่งจึงเขียนรีวิวชิ้นนี้ออกมาครับ

Google Home Mini มาในกล่องสีขาวขนาดกะทัดรัด ตามรูป ด้านข้างมีโลโก้อุปกรณ์และบริการต่างๆ ที่รองรับ Google Assistant

ส่วนด้านหลังมีคำบรรยายฟีเจอร์ต่างๆ และอีกด้านมีตัวอย่างคำสั่งที่ใช้งานได้

เมื่อเปิดกล่องออกมาก็เจอ Google Home Mini วางอยู่ก่อนเลย ด้านใต้เป็นพื้นยางสีส้ม โดยมีปุ่ม hard reset ซ่อนอยู่ใต้วงกลมเล็กๆ ด้านล่าง

ตัว Google Home Mini มีลักษณะกลมแบน ครึ่งบนเป็นผ้าถัก ครึ่งล่างเป็นพลาสติกเนื้อเนียนๆ สีขาว

พอร์ตเสียบไฟเป็น micro USB ต่างจาก Google Home รุ่นแรกที่ใช้หัวเข็มกลม ซึ่งแบบ micro USB จะสะดวกกว่ามากหากต้องการนำไปใช้นอกสถานที่ เป็นลำโพงบลูทูธทั่วไป ไม่ต้องหิ้วอะแดปเตอร์ของมันไปด้วย

หมุนมาอีกนิดจะเจอสวิตช์ปิดไมโครโฟน เมื่อเลื่อนปิดจะเห็นสีส้มชัดเจนว่าไมโครโฟนถูกปิดอยู่ และไฟ LED ด้านบนจะติดเป็นสีส้มค้างด้วย

อะแดปเตอร์ที่ให้มามีลักษณะกลมแบนเช่นกัน

สิ่งที่มีมาให้ในกล่องนอกจากตัว Google Home Mini และอะแดปเตอร์ก็มีเพียงเอกสารแนะนำการใช้งานเท่านั้น

เริ่มใช้งานครั้งแรก

เมื่อเสียบปลั๊กเรียบร้อย และ Google Home Mini บูตตัวเองเสร็จ จะมีโนติเด้งมาบนมือถือเราทันทีว่าให้เริ่มเซ็ตอัพอุปกรณ์ใหม่ด้วยแอพ Google Home ก็กดเข้าไปได้เลย (ตรงนี้ก็น่าสนใจเพราะกูเกิลได้เลือกใช้ฟีเจอร์ Nearby ที่ทำให้มือถือของเราเจออุปกรณ์ใหม่ๆ รอบตัวโดยที่เราเปิดบลูทูธทิ้งไว้เฉยๆ)

เมื่อกดเข้าไปก็จะเจอหน้าจอต้อนรับ พอกด Next จะมีเสียงเล่นจาก Google Home Mini เพื่อยืนยันว่าเรากำลังเซ็ตอัพถูกตัว

หน้าจอถัดไปให้เลือกห้องหรือบริเวณในบ้านที่เราวาง Google Home Mini ไว้ อย่างของผมวางในห้องนอนก็เลือก Bedroom

ตอนนี้มันจะเชื่อมต่อเข้ากับ Wi-Fi ของบ้านเราให้เอง โดยดึงรหัสผ่านจากมือถือไปใช้เลย ไม่ต้องกรอกเอง

ขั้นตอนถัดไปจะเลือกให้ยอมใช้เสียงของเราในการระบุตัวเพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นเฉพาะของเรา เช่นถามว่ามี agenda อะไรอยู่บ้างก็จะได้คำตอบจากปฏิทินของคนนั้นๆ โดยขั้นตอนนี้ก็ไม่ต้องอัดเสียงพูด "OK, Google" ใหม่ มันจะดึงจากมือถือเราไปใช้เลย ก็กด Yes, I'm In ได้เลย

เมื่อ Google Home Mini ดึงเสียงพูดของเราไปเรียบร้อยก็มีหน้าจอยืนยันให้กด Next หรือใครอยากอัดเสียงใหม่ก็กด Retrain Voice Model ได้ เพื่อให้ได้เสียงที่เข้ากับบรรยากาศในห้องนั้นๆ

หน้าจอถัดไปคือการเลือกที่อยู่บ้านเรา ตรงนี้มันก็จะดึงจาก Google Maps มาให้อัตโนมัติอีกเช่นกัน เรากดยืนยันไปได้เลย

สุดท้ายเป็นหน้าจอสรุปที่อยู่, ชื่อเรียกของ Google Home Mini โดยของผมมันตั้งให้เป็น Bedroom speaker ก็ใช้ไปตามนั้น และยืนยันว่าต่อเข้ากับ Wi-Fi ถูกวง

หน้าจอนี้เป็นการแนะนำการใช้งาน และบอกตัวอย่างคำสั่งที่ใช้ได้ เราเคยใช้อยู่แล้วก็กด Finish Setup จบการทำงาน

แอพ Google Home มีอะไรให้ตั้งได้เยอะมาก คงเอามาเขียนได้ไม่หมด ขอยกมา 2 อย่างที่น่าสนใจ ดังนี้

Night mode

ฟีเจอร์นี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบ เพิ่งจะเห็นว่ามีก็ตอนมาเซ็ตอัพ Google Home Mini นี่เอง การทำงานคือตั้งให้เสียงพูดของมันและเสียงเพลงเบาลงภายในช่วงเวลาและวันที่กำหนด รวมถึงความสว่างของไฟ LED ด้านบนก็จะหรี่ลงเช่นกัน อันนี้ก็เป็นฟีเจอร์ที่ผมเคยคิดอยากได้มาสักพัก เพราะบางทีก็ไม่อยากให้เสียงพูดตอนกลางคืนดังเล็ดรอดไปรบกวนคนห้องอื่นในบ้าน (เราพูดกับ Google Home แค่กระซิบมันก็จับได้อย่างแม่นยำ)

อีกฟีเจอร์คือการตั้งให้เพลงหรือวิดีโอไปเล่นบนอุปกรณ์ใดๆ อัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องพูดเจาะจงชื่ออุปกรณ์นั้นๆ เดิมเวลาเราสั่งเล่นเพลง ต้องพูด <กิจกรรม> + <อุปกรณ์ที่จะสั่งให้ทำงาน> เช่น "Hey Google, play Norah Jones on Sony" แต่ตอนนี้เราพูดแค่ "Hey Google, play Norah Jones" มันก็จะไปเล่นบนลำโพง Sony ให้เลย หากต้องการไปเล่นที่อื่นก็ค่อยเจาะจงชื่อ

สำหรับฟีเจอร์และความสามารถของตัว Google Home Mini ก็เทียบเท่า Google Home รุ่นดั้งเดิม และแทบจะไม่ต่างอะไรกับ Google Assistant บนสมาร์ทโฟน แต่มีฟีเจอร์หนึ่งที่เพิ่งอัพเดตมาใหม่ๆ และยังไม่มีบนสมาร์ทโฟน คือการสั่งควบ 2 คำสั่งด้วยการพูดเพียงประโยคเดียว อันนี้ผมว่าดีมากๆ และส่วนตัวได้ใช้เป็นประจำ

วิธีสั่งก็ตรงไปตรงมา เช่นสั่งให้เปิดไฟห้องนอน และเริ่มเล่นเพลง ก็พูดว่า "OK Google, turn on bedroom light and play Ed Sheeran on Sony" จากนั้น Google Home Mini จะสั่งให้หลอดไฟ Yeelight ที่ผมใช้งานอยู่สว่างขึ้น และไปสั่งให้ลำโพง Sony SRS-X88 เล่นเพลงจาก Spotify ทันที ผ่านฟีเจอร์ Chromecast ที่ built-in มากับลำโพง

อีกท่าที่ผมใช้เป็นประจำคือการสั่งให้ปิดไฟและหยุดเล่นเพลงในช่วงก่อนเข้านอน ก็พูดว่า "OK Google, turn off bedroom light and stop playing in 15 minutes" เพียงเท่านี้ไฟก็ปิดพร้อมกับได้ฟังเพลงคลอไปจนหลับ และ Google Home Mini จะหยุดเล่นเพลงให้เองภายใน 15 นาที

สำหรับคุณภาพเสียงของ Google Home Mini ถือว่าดีเมื่อเทียบกับขนาดตัวและราคา เสียงกลางชัดเจน แต่เบสไม่ค่อยมี ซึ่งแนวเพลงที่ผมฟังก็ไม่ได้เน้นเบสอยู่แล้ว เน้นฟังสบาย จึงลงตัวพอสมควร (ผมไม่เคยลองฟังเสียงจาก Echo Dot แต่รีวิวต่างประเทศบอกกันว่า Google Home Mini เสียงดีกว่า)

เอาเป็นว่าหากผมไม่เคยมี Google Home มาก่อน คิดว่าซื้อใช้แค่ตัว Mini ก็เพียงพอแล้ว เพราะปัจจุบันเอา Home รุ่นดั้งเดิมตั้งไว้ในห้องนั่งเล่น แต่เวลาสั่งเล่นเพลงจะให้ไปออกที่ลำโพง Sony ตลอด (เสียงดีกว่ามาก) จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคุณภาพเสียงที่ดีของตัว Home เองเท่าใดนัก แต่หากใครไม่ได้ใช้งานลำโพงที่มีฟีเจอร์ Chromecast built-in และอยากได้เสียงดีๆ ก็ควรใช้ Home รุ่นดั้งเดิมครับ

ส่วนข้อเสียที่เจอก็เห็นจะเป็นตำแหน่งการวางสวิตช์ปิดไมโครโฟน เพราะตรงนั้นหลบมุม เวลาจะปิดสวิตช์ต้องประคองเครื่องดีๆ และทุกครั้งอุ้งมือจะแตะไปโดนปุ่มปรับเสียงด้านข้างเสมอ สร้างความรำคาญได้เหมือนกัน

การใช้งานของผมทุกวันนี้ตอนเช้าให้มันปลุก ตอนแต่งตัวไปทำงานก็ให้มันรายงานสภาพการจราจร พร้อมอ่านข่าวสั้นๆ ให้ฟัง กลับมาบ้านก็สั่งเปิดเพลง และปิดไฟนอน มีเท่านี้จริงๆ นานๆ ทีถึงจะสั่งเตือนทำนู่นนี่ หรือถามคำถามจำพวก fact บ้างประปราย บางทีก็สั่งเล่นหนังจาก Netflix ขึ้นทีวี เช่น "Hey Google, play Stranger Things 2 on living room TV"

ผมคิดว่าอุปกรณ์จำพวกลำโพงอัจฉริยะ ณ ขณะนี้ก็ยังไม่ถึงขั้นที่ "ควรจะมี" เพราะความสามารถของมันยังไม่ได้ว้าวขนาดนั้น แต่ก็กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ เลยคิดว่าอยู่ในสถานะ "มีก็ดี" ไปก่อน แต่ยังนึกไม่ออกว่าฟีเจอร์แบบไหนที่จะทำให้เราว้าวได้ อันนี้ต้องรอดู Apple HomePod ว่าจะทำออกมาในลักษณะไหน ซึ่งหากเปรียบเทียบระหว่าง Google Assistant กับ Siri ผมว่าตัวแรกยังนำอยู่ อีกทั้งการถอดคำพูดของเราเป็นตัวหนังสือ กูเกิลก็ทำได้แม่นกว่าแอปเปิลมากๆ ครับ

Blognone Jobs Premium