โครงการสำคัญโครงการหนึ่งของกูเกิลในปีนี้คือ Android Go เวอร์ชันใช้แรมน้อย สำหรับอุปกรณ์ราคาถูกในประเทศกำลังพัฒนา ที่มาพร้อมแอพตระกูล Go เน้นการใช้งานออฟไลน์ เช่น Google Go, Maps Go, Files Go และ YouTube Go
แอพตัวที่น่าสนใจคือ YouTube Go ที่มีฟีเจอร์แปลกใหม่ซึ่งไม่มีในแอพ YouTube ตัวหลัก นั่นคือการดาวน์โหลดวิดีโอเก็บไว้ดูออฟไลน์ และการแชร์วิดีโอให้เครื่องอื่นโดยไม่ต้องใช้เน็ต เนื่องจาก YouTube Go เปิดให้ดาวน์โหลดบน Play Store ของไทย แบบ early access แล้ว บทความนี้จึงมาลองทดสอบมันดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง
วิธีการติดตั้ง YouTube Go ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน สามารถดาวน์โหลดจาก Play Store ได้โดยตรง ไม่ต้องหา APK มาทำ sideload ให้ยุ่งยาก แอพมีขนาด 7.7MB ออกแบบมาให้ค่อนข้างเล็ก ประหยัดปริมาณเน็ตในการดาวน์โหลด
เมื่อติดตั้งเรียบร้อยและเปิดใช้งาน แอพจะให้เรากรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อยืนยันตัวตนทาง SMS และขอสิทธิเข้าถึงจำนวนหนึ่ง เช่น SMS, โทรศัพท์, Location และการอ่านมีเดียภายในเครื่อง
ติดตั้งเสร็จแล้วจะพบหน้าตาที่เรียบง่ายมากๆ แอพมีแค่ 2 แท็บเท่านั้น คือ หน้า Home แสดงรายการวิดีโอแนะนำ และหน้า Download แสดงวิดีโอที่เก็บอยู่ในเครื่อง
หน้า Home แทบไม่ต่างอะไรกับแอพ YouTube หลัก คือ แสดงวิดีโอแนะนำ โดยคัดจากวิดีโอที่มาแรงในช่วงนั้น แต่ข้อจำกัดคือจะมีวิดีโอถูกแสดงเพียงแค่ 10 คลิปเท่านั้น ไม่มีการดูแบบแยกหมวดใดๆ ถ้าอยากดูวิดีโอเพิ่มเติม ต้องใช้วิธีกดปุ่มค้นหาแล้วใส่คีย์เวิร์ดเพียงทางเดียว
จุดต่างของ YouTube Go จากแอพ YouTube หลักคือเมื่อเราแตะที่วิดีโอ จะไม่เริ่มเล่นทันที แต่แอพจะถามเราว่าต้องการเล่นวิดีโอนั้น (Play) หรือดาวน์โหลดเก็บมาไว้ในเครื่อง และถามความละเอียดของวิดีโอที่เราต้องการเล่น/ดาวน์โหลด พร้อมบอกขนาดไฟล์มาให้เสร็จสรรพ คนที่มีเน็ตน้อยๆ จะได้รู้ล่วงหน้าว่าต้องเสียปริมาณเน็ตไปเท่าไร
ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิดีโอบางคลิปไม่สามารถดาวน์โหลดมาดูแบบออฟไลน์ได้ ต้องเล่นแบบออนไลน์อย่างเดียว ตรงนี้ขึ้นกับเจ้าของคลิปว่าจะอนุญาตหรือไม่ ด้วยเหตุผลทางลิขสิทธิ์เป็นหลัก
ถ้าหากวิดีโออนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ เมื่อสั่งดาวน์โหลดแล้ว วิดีโอจะถูกเก็บไว้ในแท็บ Download และตอนที่กดดูรายละเอียด ก็จะบอกว่าเป็นการเล่นวิดีโอที่ดาวน์โหลดมาไว้ในเครื่อง
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การดาวน์โหลดวิดีโอมาดูออฟไลน์ จำเป็นต้องต่อเน็ตเป็นระยะๆ เพื่อให้ YouTube Go เช็คเรื่องสิทธิการใช้งานอยู่ดี โดยจะกินปริมาณข้อมูลเพียงนิดเดียว (เช็คข้อมูล metadata เท่านั้น) ว่าเรายังมีสิทธิดูวิดีโอที่ดาวน์โหลดไว้ได้ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นมาตรการของ YouTube เพื่อป้องกันปัญหาลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน
อีกฟีเจอร์เด่นของ YouTube Go คือการแชร์วิดีโอที่ดาวน์โหลดมาไว้แล้ว ให้กับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเครื่องอื่น โดยไม่ต้องใช้เน็ตเลย
ฟีเจอร์นี้ออกแบบมาสำหรับประเทศที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจำกัดมากๆ เช่น อินเดีย ตัวอย่างการใช้งานคือ คนในหมู่บ้านห่างไกลที่อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงหรือราคาแพง เดินทางเข้าไปทำงานในเมืองช่วงกลางวัน แล้วดาวน์โหลดวิดีโอผ่าน Wi-Fi เก็บไว้ในเครื่อง เมื่อกลับบ้านไปตอนเย็น ค่อยกระจายวิดีโอให้คนอื่นๆ ในหมู่บ้านได้ดูกัน
การแชร์วิดีโอจำเป็นต้องใช้แอพ YouTube Go เชื่อมต่อกับ YouTube Go เท่านั้น ทั้งสองฝั่งจะต้องติดตั้งแอพ YouTube Go ให้เรียบร้อยก่อน
ผมลองทดสอบฟีเจอร์นี้โดยให้เครื่องหลักต่อเน็ตผ่าน Wi-Fi ตามปกติ ส่วนเครื่องรอง ตัดการเชื่อมต่อเน็ตทุกอย่าง ทำงานในโหมด Airplane
วิธีการใช้งานคือกดปุ่ม Share ที่มุมขวาบนของแอพแล้วเลือก Send/Recieve
สิ่งที่เกิดขึ้นคือแอพจะเปิด Bluetooth เพื่อสแกนหาเครื่องรอบตัวที่มี YouTube Go เช่นกัน
ฝั่งเครื่องที่รอรับวิดีโอ ต้องกดปุ่ม Share เช่นกัน แล้วเลือกรับข้อมูลจากผู้ส่ง (Sender) ที่อยู่ในรัศมี กระบวนการจะเหมือนกับการเชื่อมอุปกรณ์ Bluetooth ที่ต้องกรอก PIN ทั้งสองฝั่งเพื่อยืนยันตัวตน
เมื่อเชื่อมต่อกันผ่าน Bluetooth เสร็จแล้ว เครื่องหลักจะเปิดโหมด Wi-Fi hotspot เพื่อสร้างเครือข่าย Wi-Fi ชั่วคราวมาใช้ส่งข้อมูล เครื่องรองจะต่อเชื่อมกับ Wi-Fi อัตโนมัติ และปิดการใช้งานทันทีเมื่อดาวน์โหลดไฟล์เสร็จ
ความซับซ้อนคือวิดีโอบางคลิป สามารถดาวน์โหลดมาเก็บไว้แบบออฟไลน์ดูเองได้ แต่ไม่อนุญาตให้แชร์ต่อ (ตัวอย่างในภาพคือคลิปเทรลเลอร์ของหนัง Ready Player One) เงื่อนไขตรงนี้ขึ้นกับเจ้าของสิทธิ์วิดีโอเช่นกัน ว่าจะเปิดให้ดาวน์โหลดเพื่อดูแบบออฟไลน์/แชร์ต่อหรือไม่
เมื่อวิดีโอถูกแชร์ไปยังเครื่องปลายทางเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าสามารถดูคลิปได้ทันที เพราะ YouTube Go จะขอเชื่อมต่อเน็ต "สักเล็กน้อย" เพื่อเช็คสิทธิการเข้าถึงอีกรอบ หากทุกอย่างโอเคแล้ว เราก็สามารถดูคลิปที่รับมาจากเครื่องอื่นๆ ได้ทันที
YouTube Go ถือเป็นแอพ YouTube เวอร์ชันพิเศษ มีความสามารถบางอย่างที่ไม่มีในแอพ YouTube ตัวหลัก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยฟีเจอร์ด้านการค้นหาวิดีโอตามหมวด ระบบ profile หรือตอบคอมเมนต์ที่หายไป (ดูได้อย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย)
ส่วนฟีเจอร์การดาวน์โหลดเก็บไว้ดูออฟไลน์ และการแชร์ไปให้เครื่องอื่นแบบออฟไลน์ ก็ไม่ได้ทำงานออฟไลน์ 100% เพราะต้องเชื่อมต่อเน็ต "บ้าง" ด้วยเหตุผลเรื่องการตรวจสอบสิทธิ ตรงนี้เราก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งที่เจ้าของวิดีโอเรียกร้องมา และ YouTube คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำตามเพียงอย่างเดียว
ด้วยข้อจำกัดข้างต้นตามที่กล่าวมา YouTube Go จึงเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ใช้เฉพาะจริงๆ ที่มีข้อจำกัดเรื่องการเชื่อมต่อเน็ตเท่านั้น ในประเทศไทยที่อินเทอร์เน็ตมือถือค่อนข้างครอบคลุม มีแพ็กเกจเน็ตแบบไม่จำกัดปริมาณ (แม้จำกัดความเร็ว) และมีเครือข่าย Wi-Fi ให้ใช้งานแพร่หลาย แอพตัวนี้จึงอาจไม่ค่อยจำเป็นเท่าไรนักในชีวิตจริง แต่มันก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เราเห็นว่า กูเกิลกำลังคิดอะไรและทำอะไรบ้าง เพื่อเจาะตลาดผู้ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมหาศาล