Overwatch League ครั้งแรกของวงการ เมื่อ 12 ทีมจากเมืองใหญ่ต้องมาเจอกันในลีกเดียว

by geekjuggler
28 December 2017 - 08:06

ในปี 2018 ที่จะมาถึงนี้ ท่ามกลางกระแส eSports ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง กำลังจะมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของวงการเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความทะเยอทะยานครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของการยกระดับ eSports นั่นคือ การมาถึงของ Overwatch League ลีกการแข่งขันเกม Overwatch ในรูปแบบบสโมสรของทีมจากทั่วโลกที่เฟ้นหาสุดยอดผู้เล่นจากทวีปต่างๆ มาประลองบนเวทีเดียวกัน

แล้วทำไม Overwatch League ถึงเป็นที่จับตามองจากทั้งฝั่งผู้เล่น ผู้ชม ผู้จัดการแข่งขันอื่นๆ รวมไปถึงแบรนด์ต่างๆ ที่สนใจอยากจะกระโดดเข้ามาร่วมอุตสาหกรรม eSports มาลองหาคำตอบไปด้วยกันครับ

จากความนิยมสู่การแข่งขัน

ไม่น่าเชื่อว่า เกมที่จะกล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในวงการ eSports กลับเป็นเกมที่ยังมีอายุไม่ถึง 2 ปีเต็มเสียด้วยซ้ำ!

Overwatch คือเกมจากค่าย Blizzard ผู้พัฒนาเกมยักษ์ใหญ่ที่มีผลงานดังๆ ออกมามากมาย เกมนี้ผสมผสานระหว่างเกมแนว FPS (First Person Shooter) เข้ากับเกมในสไตล์ MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) เปิดตัวครั้งแรกในงาน BlizzCon 2014 และเปิดให้เล่นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2016 Overwatch ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกมเมอร์ทั่วโลก โดยจำนวนผู้เล่นได้ทะลุ 35 ล้านคนไปเมื่อเดือนตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี Overwatch ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมุ่งเป้าว่าจะเป็นเกมสำหรับการแข่งขัน eSports โดยเฉพาะ แต่ด้วยรูปแบบของการเล่นที่เอื้อให้มีการแข่งขันกันได้อย่างตื่นเต้น ทำให้มีการจัดการแข่งขัน Overwatch เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และในท้ายที่สุด Blizzard ก็ได้ประกาศเปิดตัว Overwatch League ลีกการแข่งขัน Overwatch ระดับมืออาชีพของตัวเองในงาน BlizzCon 2016

สิ่งที่ทำให้ Overwatch League แตกต่างจากลีกอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างรายการ OGN Overwatch APEX ในเกาหลีใต้ หรือ Overwatch Pacific Championship ในไต้หวัน เพราะ Overeatch League เป็นครั้งแรกของวงการ eSports ที่จะเปิดลีกเพื่อให้ทีมจาก “ทั่วโลก” มาลงแข่งในลีกเดียวกัน ไม่ได้จัดแข่งแค่ทีมภายในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง

เลือกเดินเส้นทางใหม่ที่ยังไม่มีใครไปถึง

การแข่งขันเกมในฐานะ eSports ผ่านรูปแบบลีกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่สิ่งที่ทำให้ Overwatch League แตกต่างคือการเลือกเดินบนเส้นทางที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ด้วยการนำรูปแบบและวิธีการของการแข่งขันกีฬาแบบทั่วไปมาประยุกต์ใช้กับ eSports

Overwatch League จะเป็นลีกระบบปิด ไม่มีการเลื่อนชั้นหรือตกชั้น แข่งขันกันภายในเพื่อจัดอันดับและหาทีมไปแข่งขันต่อในรอบตัดเชือกหาแชมป์ประจำฤดูกาล

ความพิเศษของ Overwatch League ที่ไม่เหมือนใคร คือ การนำฟอร์แมท “ทีมประจำเมือง” เช่นเดียวกับลีกกีฬาปกติ มาใช้กับการแข่งขัน eSports เป็นครั้งแรก โดย 12 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันในฤดูกาลแรกนี้ จะเล่นในฐานะตัวแทนของแต่ละเมืองที่ทีมนั้นตั้งอยู่ และต้องเปลี่ยนชื่อทีมใหม่ ให้มีชื่อเมืองอยู่ในนั้นด้วย

สำหรับ Overwatch League ในฤดูกาลแรกนี้ จะเริ่มแข่งขันกันในวันที่ 10 มกราคม 2018 โดยทุกทีมจะบินมาแข่งกันที่ Blizzard Arena ในเมือง Los Angeles พร้อมเปิดขายตั๋วให้ผู้ชมเข้าไปชมการแข่งขันได้ในสนามจริง โดย Blizzard วางแผนไว้ว่าจะเพิ่มระบบทีมเหย้า-เยือนเช่นเดียวกับกีฬาทั่วไปในฤดูกาลถัดๆ ไป

ถึงแม้จะเป็นการแข่งขันในฤดูกาลแรก แต่ Blizzard ได้วางระบบและมาตรฐานให้กับ Overwatch League ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในการแข่งขัน eSports ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเอาจริงกับลีกนี้มากขนาดไหน และไม่ใช่แค่เพียงผู้จัดเท่านั้น รายชื่อผู้ที่เข้าร่วมลีกในครั้งนี้ น่าจะสะท้อนถึงกระแสของ eSports ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ภาพการแข่งขันช่วง Preseason ก่อนเปิดฤดูกาล

ทีมกับผู้สนับสนุนรายยักษ์

เนื่องจาก Overwatch League เป็นลีกปิด ทีมต่างๆ ที่สนใจจะเข้าร่วมจึงต้องซื้อสิทธิ์เข้าทำการแข่งขัน แม้จะไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ราคาที่หลุดออกมาจากข่าวลือ สูงถึง 20 ล้านดอลลาร์ และจากรายชื่อทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน เราจึงเห็นทั้งทีม eSports ที่มีอยู่เดิมมาเปลี่ยนชื่อ และทีมสร้างใหม่จากนักลงทุนระดับมหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของทีมกีฬาแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว

รายชื่อทีมและเจ้าของ

Dallas Fuel (ดัลลัส, สหรัฐอเมริกา) : Team EnVyUs ทีม eSports จากสหรัฐอเมริกา

ทีมที่สื่อต่างยกให้เป็นทีมตะวันตกที่ดีที่สุด ยกทีมกันมาจาก EnVyUS ซึ่งได้รับรางวัลจากทัวร์นาเมนต์ต่างๆ มากมาย พร้อมดึงผู้เล่นฝีมือเยี่ยมมาเสริมทัพ ซึ่งทีมนี้มี Mickie คนไทยหนึ่งเดียวที่เล่นในลีกนี้

Los Angeles Gladiators (ลอสแองเจลิส, สหรัฐอเมริกา) : Kroenke Sports & Entertainment

เจ้าของทีมฟุตบอล Arsenal F.C. ทีมอเมริกันฟุตบอล Los Angeles Rams และ ทีมบาสเกตบอล Denver Nuggets

Los Angeles Valiant (ลอสแองเจลิส, สหรัฐอเมริกา) : Immortals ทีม eSports จากสหรัฐอเมริกา

มี Machine Shop Ventures ของวงดนตรี Linkin Park และ Steve Kaplan เจ้าของทีม Memphis Grizzlies เป็นผู้ร่วมลงทุน

San Francisco Shock (ซานฟรานซิสโก, สหรัฐอเมริกา) : NRG eSports ทีม eSports จากสหรัฐอเมริกา

ทีมนี้เกิดจากการรวมทีมผู้เล่นขึ้นมาใหม่ ไม่ได้มีทีมอยู่แต่เดิม และยังมี Jay "sinatraa" Won ผู้เล่นวัย 17 ที่รับค่าเหนื่อยสูงถึง 150,000 ดอลลาร์ต่อปี แต่เขาจะสามารถลงเล่นได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 ปีเป็นต้นไป เพราะต้องรอให้อายุครบ 18 ปีซึ่งเป็นอายุขั้นต่ำของผู้เล่นตามกฏของ Overwatch League

Seoul Dynasty (โซล, เกาหลีใต้) : KSV Esports ของ Kevin Chou เจ้าของบริษัทพัฒนาเกม Kabam

ทีมเต็งแชมป์ประจำซีซั่นแรก ผู้เล่นหลักๆ มาจาก Lunatic Hai ทีมแชมป์ OGN APEX 2 สมัย พร้อมสมาชิกทีมชาติเกาหลีใต้แชมป์ Overwatch World Cup 2 ปีซ้อน

Shanghai Dragons (เซี่ยงไฮ้, จีน) : NetEase บริษัทด้านอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการ Overwatch ในประเทศจีน

Boston Uprising (บอสตัน, สหรัฐอเมริกา) : Kraft Group เจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอล New England Patriots

Houston Outlaws (ฮูสตัน, สหรัฐอเมริกา) : Optic Gaming ทีม eSports จากสหรัฐอเมริกา

อีกหนึ่งทีมแกร่งจากโซนอเมริกาเหนือ ความพิเศษของทีมนี้คือไม่มีผู้เล่นชาวเกาหลีใต้ในทีมเลย ผู้เล่นเด่นในทีมนี้คือ Jake "JAKE" Lyon ตำแหน่ง DPS ที่โชว์ฟอร์มอย่างเข้มข้นในการแข่งขัน Overwatch World Cup 2017 ที่ผ่านมา

London Spitfire (ลอนดอน, สหราชอาณาจักร) : Cloud9 ทีม eSports จากสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าจะเป็นทีมจากลอนดอน แต่ผู้เล่นในทีมทั้ง 12 คนกลับมาจากเกาหลีใต้ ซึ่งสมาชิกหลักๆ มาจากสองยอดทีมดังของเกาหลีใต้อย่าง GC Busan และ C9.Kongdoo โดยทีมนี้นับว่าเป็นทีมลุ้นแชมป์อีกทีมหนึ่ง

Florida Mayhem (ไมอามี่-ออแลนโด้, สหรัฐอเมริกา) : Misfits ทีม eSports จากสหราชอาณาจักร

ทีมนี้เป็นทีมเดียวในลีกที่มีสมาชิกเพียง 6 คนโดยไม่มีตัวสำรองในทีมเลย ซึ่งอาจจะมีผลต่อการแข่งขันในระยะยาวหรือการแก้เกมระหว่างฤดูกาล

New York Excelsior (นิวยอร์ค, สหรัฐอเมริกา) : Jeff Wilpom COO ของทีมเบสบอล The New York Mets และรองประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Sterling Equities

อีกหนึ่งทีมที่ใช้ผู้เล่นเกาหลีใต้ล้วน ซึ่งดึงสมาชิกมาจากทีม LW Blue นอกจากนี้ผู้เล่นหลายคนยังเป็นผู้เล่นชุดทีมชาติเกาหลีใต้ที่คว้าแชมป์ Overwatch World Cup 2017 มาอีกด้วย

Philadelphia Fusion (ฟิลาเดเฟีย, สหรัฐอเมริกา) : Comcast Spectacor เจ้าของทีมฮอกกี้ Philadelphia Flyers

ทีมรวมผู้เล่นนานาชาติ เพราะสมาชิกทั้ง 11 คนมีจากประเทศที่แตกต่างกันถึง 9 ประเทศ

ถึงแม้ว่าความตั้งใจของ Overwatch League จะต้องการให้มีทีมจากทั่วโลกมาแข่งขันกัน แต่ในฤดูกาลแรกนี้ กลับมีทีมจากสหรัฐอเมริกามากถึง 9 ทีม ทีมจากยุโรป 1 ทีม (สหราชอาณาจักร) และ จากเอเชีย 2 ทีม (จีนและเกาหลีใต้) อาจถือว่าพลาดเป้าไปพอสมควร ในแง่ความหลากหลายของภูมิภาคสำหรับทีมที่ลงแข่งขัน

ประเด็นที่น่าสนใจจากรายชื่อข้างต้น คือ ทีมที่ลงแข่งนั้นล้วนมาจาก ทีม eSports เดิมที่มีอยู่แล้ว เจ้าของทีมกีฬาปกติที่อยากขยายตลาดมายัง eSprots และ เศรษฐีที่อยากลงมาเล่นในตลาดนี้ ซึ่งล้วนแต่มีผู้สนับสนุนยักษ์ใหญ่ที่จะมาซัพพอร์ตด้านการเงิน

ดังนั้น ในช่วงเวลาการเปิดรับสมัครทีมเข้าแข่งขัน Overwatch League จึงมีทีม Overwatch จำนวนมากที่ไม่มีเงินมากพอหรือไม่สามารถหาสปอนเซอร์ได้ทัน ต่างยุบทีมกันเป็นจำนวนมาก เพราะมองเห็นว่าอาจจะไม่คุ้มสำหรับการทำทีมในระยะยาว หากไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันในลีกใหญ่อย่าง Overwatch League

คุณภาพชีวิตต้องพร้อม

อีกหนึ่งสิ่งที่ Blizzard นำมาใช้กับ Overwatch League และอาจเกิดแรงกระเพื่อมให้กับการแข่ง eSports อื่นๆ ทั่วโลก คือการออกกฏข้อบังคับสำหรับสวัสดิการขั้นต่ำที่ผู้เล่นจะต้องได้รับจากทีม ไม่ว่าจะเป็นกรอบการเซ็นสัญญาขั้นต่ำ เงินเดือนขั้นต่ำ ประกันสุขภาพ แผนการออมเงินหลังเกษียณ ส่วนแบ่งโบนัสขั้นต่ำที่จะได้รับจากทีม และ เกมมิ่งเฮ้าส์ที่มีความเหมาะสมสำหรับการฝึกซ้อม (อ่านเพิ่มเติม)

การกำหนดกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาอาชีพทั่วไปในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้เล่นที่ต้องการจะก้าวขึ้นมาเป็นมืออาชีพในเกม Overwatch อย่างเต็มตัวแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาเรื้อรังในวงการ eSports ที่มีมาอย่างยาวนาน อย่าง เงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม หรือ สวัสดิการของผู้เล่นที่มักจะถูกละเลย

ไม่ใช่แค่ผู้เล่น ผู้ชมก็สำคัญ

โจทย์ใหญ่ข้อหนึ่งที่ Blizzard ลงมือแก้ไขเพื่อสร้างประสบการณ์การรับชม Overwatch ในฐานะ eSports ที่ดีขึ้น คือ การที่ผู้ชมติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมไม่ทันขณะดูถ่ายทอดการแข่งขัน เพราะด้วยรูปแบบของเกมที่มีความรวดเร็ว ความหลากหลายของสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า และ สีของตัวละครทั้งสองฝั่งที่มีความใกล้เคียงกัน

Blizzard เลือกใช้วิธีประยุกต์มาจากการแข่งขันกีฬาทั่วไป นั่นคือ การสร้าง “ชุดแข่ง” ให้กับแต่ทีม ซึ่งมีดีไซน์ที่แตกต่างกันไป มีพร้อมทั้งชุดเหย้า-เยือน (ที่ผู้เล่นสามารถใช้เงินจริงซื้อชุดของทีมที่ตัวเองเชียร์ได้อีกด้วย) รวมถึงสีของเอฟเฟกต์ที่จะเกิดขึ้นภายในเกมของแต่ละทีม ทำให้ผู้ชมสามารถแยกผู้เล่นและการกระทำของแต่ละฝั่งได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องมือสำหรับการถ่ายทอดสดเพื่อมอบประสบการณ์การรับชมให้ดียิ่งขึ้น เช่น แผนที่อินเตอร์แอ็คทีฟที่เปลี่ยนมุมมองให้เป็นภาพมุมสูงเพื่อระบุตำแหน่งผู้เล่น มุมกล้องบุคคลที่สามอัจฉริยะ และ เครื่องมือสร้างภาพรีเพลย์ย้อนให้ชมจังหวะสำคัญในเกมได้ง่ายขึ้น ระบบนี้ได้ถูกทดลองใช้งานการแข่งขัน Overwarch World Cup 2017 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก และจะถูกใช้ใน Overwatch League ต่อไป

ตัวละครในชุดแข่งของทั้ง 12 ทีม

ไม่ใช่แค่เรื่องในจอ เรื่องนอกจอก็ได้รับความสำคัญไม่แพ้กัน อีกหนึ่งปัญหาของการชม eSports ของผู้ชมจากทั่วโลก คือ เรื่องของไทม์โซนที่แตกต่างกัน ทำให้หลายต่อหลายครั้ง ผู้ชมไม่สามารถชมเกมได้ เนื่องจากเวลาการแข่งขันนั้นเป็นช่วงดึกในเวลาท้องถิ่นของตัวเอง

Overwatch League จึงแก้เกมด้วยวิธีสุดครีเอตอย่างการแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่มโดยใช้ไทม์โซนเป็นเกณฑ์ คือ

  • กลุ่ม Atlantic ประกอบด้วย Boston Uprising, Florida Mayhem, Houston Outlaws, London Spitfire, New York Excelsior และ Philadelphia Fusion
  • กลุ่ม Pacific ประกอบด้วย Dallas Fuel, Los Angeles Gladiators, Los Angeles Valiant, San Francisco Shock, Seoul Dynasty, และ Shanghai Dragons

ระบบลีกที่ได้ลุ้น พร้อมมีเงินรางวัลตลอดรายการ

ฟอร์แมตการแข่งขันของ Overwatch League จะเริ่มต้นที่การแข่งขันในระบบลีก เพื่อหาทีมเข้ารอบไปแข่งกันต่อในรอบตัดเชือก ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

การแข่งขันในลีก ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม - 16 มิถุนายน 2018

ทั้งกลุ่ม Atlantic และ Pacific จะแข่งขันกันสดๆ ที่ Blizzard Arena ในวันพุธถึงวันเสาร์ โดยระยะเวลา 5 เดือนนี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 4 เสตจ ผลการแข่งขันจะมีผลต่อการจัดอันดับทีมสำหรับรอบเพลย์ออฟ โดยทุกวันเสาร์สุดท้ายของแต่ละสเตจ จะมีการชิงแชมป์เสตจเพื่อรับเงินรางวัลโบนัส

การแข่งขันรอบเพลย์ออฟ ตั้งแต่วันที่ 11-28 กรกฎาคม 2018

หลังจากจบสเตจ 4 ทีมที่ทำผลงานได้ดีในแต่ละกลุ่มจะมาแข่งขันกันต่อในรอบเพลย์ออฟ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11-22 กรกฎาคม และ รอบชิงชนะเลิศ Grand Final ในวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2018 เพื่อหาผู้ชนะ Overwatch League ซีซั่นแรกรับเงินรางวัล 1,000,000 เหรียญ

All-Star Weekend 10-12 สิงหาคม 2018

หลังจากจบฤดูกาล จะเป็นช่วงพิเศษที่จะให้ผู้เล่นยอดนิยมของสังคม Overwatch ได้มาแข่งขันกันในความท้าทายที่ทุกคนคาดไม่ถึง

ตารางการแข่งขันในสัปดาห์เปิดลีก

รวมกันเราอยู่

ในด้านรายได้ Overwatch League มองในภาพใหญ่ที่ต้องการให้ทุกทีมโตไปด้วยกัน ผ่านนโยบายกระจายรายได้ให้กับทุกทีมในลีก รายได้จากโฆษณา ตั๋วเข้าชม และลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจะถูกแบ่งให้กับทุกทีมเท่าๆ กัน รวมถึงรายได้ต่างหากของแต่ละทีม หากเกินจำนวนที่กำหนดไว้ก็จะต้องถูกนำเข้ากองกลางเพื่อแบ่งให้กับทุกทีมเช่นเดียวกัน (อ่านเพิ่มเติม) เป็นวิธีการแบ่งรายได้แบบเดียวกับลีกกีฬาอื่นๆ เช่น ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก)

กลยุทธ์นี้เหมาะสมมากกับลีกที่เพิ่งจะเกิดใหม่อย่าง Overwatch League ที่ต้องการสั่งความยั่งยืนและเติบโตในระยะยาว เพราะมั่นใจได้ว่าจะไม่มีทีมไหนถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง

นอกจากนี้ Blizzard ยังเปิดตัวระบบลีกในระดับการแข่งขันต่างๆ เพิ่มสร้าง ecosystem การแข่งขัน Overwatch ในระยะยาว เปิดทางให้มีผู้เล่นเข้ามาเทิร์นโปรสู่การเล่นเป็นอาชีพได้ง่ายขึ้น และสร้างโอกาสสำหรับทีมใน Overwatch League ที่จะพัฒนาผู้เล่นในสังกัดของตัวเอง เนื่องจาก Blizzard เปิดโอกาสให้แต่ละทีมสามารถส่งทีม Academy ของตัวเองลงแข่งขันในรายการ Overwatch Contender (อ่านเพิ่มเติม)

ประเด็นที่น่าจับตามอง

ที่กล่าวไปในข้างต้น คือภาพรวมของ Overwatch League ที่จะเปิดฉากการแข่งขันในเดือนมกราคม 2018 ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจและจับตามองตามความคิดของผู้เขียนเพิ่มเติมดังนี้

ทีม อยู่เหนือ ผู้เล่น

การแข่งขัน eSports บางเกมแตกต่างกับการแข่งขันกีฬาทั่วไป เพราะมีรอบ Open Qualifier หรือ การแข่งขันรอบคัดเลือกแบบเปิด ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละโซนไปแข่งในรอบต่อไปได้ ดังนั้น จึงมีช่องว่างที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสุดคลาสสิคอย่าง ผู้เล่นพร้อมใจกันลาออกจากทีมแบบยกชุด (ไม่ว่าจะทั้งจากสาเหตุว่าหาโอกาสที่ดีกว่าหรือ ดราม่าในทีมหรือระหว่างสมาชิกในทีมด้วยกันเอง) เพื่อลงแข่งขันด้วยตัวเองแบบไม่ต้องมีต้นสังกัด ส่งผลเสียต่อทีมที่ลงทุนลงแรงสนับสนุนผู้เล่น แต่สุดท้าย พวกเขากลับย้ายออกไปเมื่อเจอสิ่งที่ดีกว่าแบบทันที และด้วยฝีมือผู้เล่นเหล่านั้น ทำให้พวกเขามีข้อต่อรองและมั่นใจได้ว่า ไม่ต้องมีต้นสังกัด พวกเขาก็สามารถอยู่ได้

หากเมื่อเทียบกับ Overwatch League ซึ่งเป็นการแข่งขันระบบปิด ส่งผลให้ทีมมีพลังอำนาจเหนือกว่าผู้เล่น เพราะไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำทีมลงแข่งขันได้ และค่าซื้อสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งก็สูงมาก จนไม่น่าจะมีใครที่สามารถซื้อได้ หากไม่มีทีมหรือต้นสังกัดเป็นผู้สนับสนุน

ฟังดูแล้วอาจจะมองว่าเป็นการกีดกันโอกาสให้กับผู้เล่นที่ไม่สามารถหาทีมใหญ่ๆ อยู่ได้ แต่ในภาพรวม ระบบนี้ถึอว่าดีกับวงการ eSports ในระยะยาว เพราะทีมก็สามารถมั่นใจได้ว่า ผู้เล่นจะไม่มีการออกจากทีมกลางคันและสามารถลงทุนกับพวกเขาได้อย่างเต็มที่ ผู้เล่นก็สบายใจในการอยู่ร่วมกับทีม ด้วยกฏข้อบังคับด้านสวัสดิการของ Overwatch League และ สุดท้าย ระบบนี้ช่วยเพิ่มความสบายใจให้กับแบรนด์ที่ต้องการเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมต่างๆ เพราะ ไม่ต้องกลัวปัญหาทีมแตกกลางคัน หรือ ดาวเด่นที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับตัวเอง จะออกจากทีมไปแบบบกระทันหันนั่นเอง

คนไทยโกอินเตอร์

หากจะให้ยกตัวอย่างชื่อของคนไทยที่ประสบความสำเร็จในฐานะนะกีฬา eSports หนึ่งในชื่อแรกๆ ที่คนจะต้องนึกถึงคือ ปองภพ รัตนแสงโชติ หรือ Mickie ที่ขณะนี้เล่นให้กับทีม Dallas Fuel ทีมระดับท็อปของอเมริกา และแน่นอนว่า เขาได้เป็นตัวจริงที่จะลงแข่งขัน Overwatch League ในครั้งนี้ด้วย

เส้นทางการโกอินเตอร์ของ Mickie เริ่มต้นจากการโชว์ฟอร์มอันโดดเด่นในฐานะตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขัน Overwatch World Cup 2016 จากนั้นเขาถูกดึงตัวให้ไปเป็น stand-in ให้กับทีม EnVyUS (ชื่อเดิมของ Dallas Fuel) ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งตัวจริงของทีมในเวลาถัดมา

สิ่งที่ทำให้ Mickie แตกต่างจากผู้เล่นคนอื่นๆ คือความมีอารมณ์ขันและรอยยิ้มบนใบหน้า ไม่ว่าสถานการณ์การแข่งขันในขณะนั้นจะกดดันขนาดไหน ซึ่งจุดนี้เองทำให้เขาครองใจแฟนๆ Overwarch ทั่วโลกได้อยู่หมัด

ไม่ง้อใคร ถ่ายทอดผ่านช่องทางตัวเอง

ในการแข่งขันพรีซีซั่นก่อนเปิดฤดูกาลของ Overwatch League เมื่อตอนต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Blizzard เซอร์ไพร์ซผู้ชมด้วยการประกาศว่าจะถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มของ MLG (Major League Gaming) แทนที่จะเป็น Twitch แพลตฟอร์มสำหรับการถ่ายทอดสดเกมที่ใหญ่ที่สุด ณ เวลานี้ และนี่อาจจะเป็นสัญญาณที่ว่า Overwatch League ช่วงเปิดฤดูกาลนั้น อาจจะถ่ายทอดผ่าน MLG เช่นเดียวกัน

จริงๆ แล้ว การตัดสินใจของ Blizzard ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MLG คือ Blizzard นั่นเอง สิ่งที่น่าจับตามองในครั้งนี้คือ การตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลต่อจำนวนผู้ชมหรือไม่ เพราะในการแข่งขัน Overwatch World Cup 2017 ถ่ายทอดสดทั้งใน Twitch และ เว็บไซต์ของ Blizzard ตัวเลขจำนวนการชมผ่าน Twitch นั้นรวมกันแล้วสูงถึง 2.7 ล้านชั่วโมง (มากกว่าทัวร์นาเมนต์ชิงชนะเลิศของ League of Legends เสียอีก)

ทั้งนี้ Blizzard และ Twitch เคยบรรลุข้อตกลงเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะไม่มีชื่อรายการ Overwatch League อยู่ในนั้น

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของ Overwatch League รายการแข่งขัน eSports ที่คนทั้งโลกเฝ้าตั้งตารอมากที่สุด เข้าใกล้กับมาตรฐานการแข่งขันกีฬาปกติมากที่สุด และ โชว์วิสัยทัศน์ความทะเยอทะยานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของ Blizaard

ส่วนผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น 10 มกราคม 2018 วันเปิดฤดูกาลของ Overwatch League น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด

ที่มา: PCGames N, ESPN, Facebook: Overwatch League News 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, Overwatch League 1, 2, Liquipedia: Overwatch League, The Esports Observer

Blognone Jobs Premium