ไมโครซอฟท์กับศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่

by javaboom
8 December 2008 - 18:00

ไมโครซอฟท์เปิดเผยว่า ไมโครซอฟท์ได้พัฒนาต้นแบบของศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ ที่เรียกสั้นๆว่า Gen 4 หรือชื่อเต็มคือ Generation 4 Modular Data Centers โดยไมโครซอฟท์วางแผนไว้ว่าจะใช้ต้นแบบดังกล่าวในการสร้างศูนย์ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นอีกหลายแห่งใน 5 ปีข้างหน้านี้ เพื่อรองรับการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ และบริการแบบกลุ่มเมฆ* อาทิเช่น Hotmail, Live Search, Virtual Earth และ Azure เป็นต้น มากไปกว่านั้น ไมโครซอฟท์กล่าวว่าจะเปิดเผยข้อมูลของต้นแบบนี้ต่อสาธารณะ และบริษัทอื่นๆสามารถนำต้นแบบดังกล่าวไปพัฒนาศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ของตนเองได้อีกด้วย

ลักษณะของศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ ได้แก่ ถอดและประกอบได้ง่าย, ย้ายที่ไปติดตั้งตำแหน่งอื่นที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก, ประกอบได้อย่างรวดเร็ว, ยืดขยายศูนย์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ, และประหยัดต้นทุน โดยเท่าที่ผมอ่านหลักการของต้นแบบศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ ผมคิดว่าวิธีการนี้เหมือนกับวิธีการก่อสร้างสำเร็จรูปหรือเรียกสั้นๆกันว่า พรีแฟบ (Prefabs หรือเต็มๆคือ Prefabricated building) ท่านลองดูตัวอย่างภาพการสร้างบ้านแบบพรีแฟบ หรือบ้านแบบประกอบสำเร็จรูปได้ที่ Wikipedia อย่างไรก็ดี ศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ อันเป็นศูนย์ข้อมูลแบบพรีแฟบตามที่ไมโครซอฟท์ออกแบบไว้มีความแปลกประหลาดพอควร นั่นคือ ตั้งบนสถานที่ที่มีชั้นเดียวและไม่มีหลังคา

จากแหล่งข่าวกล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่เป็นวิวัฒนาการแบบถอนรากถอนโคน และต้องการความร่วมมือจากเหล่าบรรดาโรงงานผู้ผลิต เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน ให้สามารถประกอบเข้ากันและทำงานร่วมกันได้ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะถูกพัฒนาเป็นชิ้นส่วนหรือโมดูลที่ถอดและประกอบได้ และเคลื่อนย้ายได้ง่าย อาทิเช่น โมดูลสำหรับประกอบระบบเซิรฟ์เวอร์, โมดูลสำหรับประกอบระบบปั่นไฟ, โมดูลสำหรับประกอบระบบทำความเย็น, และโมดูลระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น โดยโมดูลต่างๆเหล่านี้ควรประกอบให้เสร็จสิ้นให้เกิดเป็นระบบพร้อมใช้งาน ก่อนที่จะนำไปติดตั้ง​ ณ สถานที่ตั้งจริงของศูนย์ข้อมูล

จากวีดีโอต้นฉบับที่ MSN Video หรือวิดีโอจาก YouTube ตามที่แสดงไว้ด้านบน ได้สาธิตหลักการของศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่ที่เรียกว่า Container Assembly ในวีดีโอยกตัวอย่างการประกอบโมดูลของเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นตู้เรียงกันหลายสิบตู้ แต่ละตู้อาจจะบรรจุเซิร์ฟเวอร์แบบเบลดที่มีจำนวนโปรเซสเซอร์หลายร้อยหรือหลายพันคอร์ จากนั้น ตู้เหล่านี้จะถูกขนไปวางบนรถบรรทุกเพื่อลำเลียงไปติดตั้งยังตำแหน่งของศูนย์ข้อมูลที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเป็นไปได้ว่า รถบรรทุกแต่ละคันอาจลำเลียงอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน (ดูวิดีโอประกอบแล้วจะเข้าใจมากขึ้น) และอาจจะถูกประกอบมาจากโรงงานที่แตกต่างกันก็ได้

สาเหตุที่ศูนย์ข้อมูลประเภทนี้มีชั้นเดียวก็เพื่อให้รถบรรทุกหรือรถขนของสามารถลำเลียงชิ้นส่วนต่างๆไปติดตั้งได้สะดวก และการที่ไม่มีหลังคาก็สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศ ดังนั้น สถานที่ติดตั้งศูนย์ข้อมูลคงต้องมีอากาศเย็นและอุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลงมาก ส่วนข้อมูลจาก LooseBolts กล่าวว่า การไม่มีหลังคานั้น อุปกรณ์ต่างๆจะต้องทนต่ออุณหภูมิภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 10 - 35 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ สถานที่ตั้งของศูนย์ควรเป็นที่โล่งกว้างเพื่อการขยายอาณาบริเวณของศูนย์ข้อมูลได้อีกต่อไป

สำหรับกลยุทธ์ในตลาดการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ เท่าที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้เพิ่มเซิร์ฟเวอร์กว่า 10,000 เครื่องเข้าไปในศูนย์ข้อมูลที่มีอยู่เดิมทุกๆ 1 เดือน แต่แผนการที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือ ในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ไมโครซอฟท์วางแผนสร้างศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ถึง 20 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะลงทุนด้วยงบกว่า 1 พันล้านเหรียญ และคาดว่าถ้าพัฒนาให้ได้ตามแบบศูนย์ข้อมูลยุคที่สี่แล้ว จะสามารถลดเวลาในการพัฒนาให้เสร็จภายในครึ่งปีถึงหนึ่งปี และประหยัดงบไปกว่า 40%

* คำว่า บริการแบบกลุ่มเมฆ (Cloud services) หมายถึง ระบบสารสนเทศหรือบริการสารสนเทศที่ถูกประมวลผลโดยการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing)

ที่มา - COMPUTERWORLD, VIRTUALIZATION REVIEW และข้อมูลแบบละเอียดยิ่งขึ้นจะกล่าวไว้ที่ LooseBolts โดยจะกล่าวถึงศูนย์ข้อมูลในยุคก่อนหน้ายุคที่สี่ไว้ที่หัวข้อสุดท้าย

Blognone Jobs Premium