Disclaimer: บทความนี้เกิดจากประสบการณ์ใช้งานส่วนตัว ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือมีส่วนได้เสียใดๆ กับ dtac ทั้งสิ้น
dtac เปิดตัว dtac call ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยส่วนตัวยอมรับว่าตอนนั้นเฉยๆ กับแอปตัวนี้ เพราะใช้งานอยู่เบอร์เดียวเป็นหลักอยู่แล้ว ก่อนจะพบว่าแอป Wi-Fi Calling ของ dtac ที่อยู่ในเครื่องได้เปลี่ยนโฉมเป็น dtac call อัตโนมัติ ทำให้ตอนนั้นอนุมานว่าตัวแอปมันมาพร้อมกับฟีเจอร์ Wi-Fi Calling ในตัว
ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปอังกฤษ ซึ่งตอนแรกตั้งใจจะใช้งาน dtac call ในฐานะ Wi-Fi Calling ผ่าน Wi-Fi ของที่พักเหมือนที่เคยใช้ตามปกติ ก็เลยซื้อซิมนักท่องเที่ยวของที่นั่น ก่อนจะพบว่าตัวแอป dtac call ทำให้เราสามารถรับสายและโทรออกผ่านเบอร์ที่เราผูกไว้ โดยอาศัยอินเทอร์เน็ต 3G/4G จากซิมได้โดยตรง ไม่จำกัดเฉพาะ Wi-Fi อย่างเดียว เลยอยากจะเขียนถึงแอปนี้สักหน่อยจากฟีเจอร์นี้ล้วนๆ
เมื่อเปิดแอปครั้งแรก แอปจะให้เราผูกเบอร์ dtac กับแอปก่อนซึ่งสามารถผูกได้สูงสุด 5 เบอร์ และเลือกได้ว่าจะเปิดหรือปิดการเชื่อมต่อเบอร์ไหน ขณะที่เมื่อเปิดใช้งานแอป แอนดรอยด์จะแจ้งเตือนเราว่า dtac call ทำงานอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา ตอนแรกก็กังวลว่ามันจะกินแบตเตอรี่ แต่เอาเข้าจริงกินน้อยมาก เปิดทิ้งไว้ทั้งวัน (ไม่ได้มีสายเข้าหรือออก) กินไปประมาณ 4-5% เท่านั้น (ไม่ได้แคปหน้าจอมา)
และด้วยความที่แอปทำงานเบื้องหลังตลอด การปิดแอปจะลำบากเล็กน้อย คือต้องเข้าไป Force Stop ที่หน้า App Info ซึ่งสำหรับคนที่ไม่รู้ก็อาจเหมือนทาง dtac บังคับใช้งานแอปอยู่ตลอดกลายๆ
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น สิ่งที่ผมพบว่ามันคือข้อดีที่สุดของแอปนี้ คือการสามารถรับสายและโทรออก รวมถึงรับและส่ง sms ได้ตลอดเวลาที่สมาร์ทโฟนต่ออินเทอร์เน็ตและเปิดแอป ตัดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายโรมมิ่งที่ค่อนข้างแพงไปได้ และเมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตหาย แอปจะแสดงสถานะบอกด้วยว่าไม่มีการเชื่อมต่อ
ส่วนแพ็คเกจค่าโทรเมื่อโทรออกผ่าน dtac call หน้าเว็บ dtac ระบุว่าจะอิงจากแพ็คเกจปัจจุบันของเบอร์นั้นๆ ที่ใช้โทรออก ไม่มีการคิดค่าบริการเพิ่มแต่อย่างใด