ครบรอบ 1 ปี ฟีเจอร์ Mini Programs บน WeChat ที่หวังสะเทือน App Store และ Alibaba

by arjin
21 January 2018 - 09:28

WeChat แอพแชตและเครือข่ายสังคมรายใหญ่ที่สุดในจีน ตัวเลขจำนวนผู้ใช้งานล่าสุดคือ 980 ล้านคน แอพนี้เป็นแอพในเครือของ Tencent ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของจีน เมื่อปีที่แล้ว WeChat ได้เปิดตัวฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Mini Program โดยผู้ใช้สามารถเพิ่ม "แอพในแอพ" ได้ใน WeChat เลย ไม่ต้องดาวน์โหลดแอพมาลงโทรศัพท์อีก ซึ่งตรงกับพฤติกรรมผู้ใช้จีนที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนมีพื้นที่ความจุเยอะ

กลยุทธ์ Mini Program ของ WeChat นั้นประสบความสำเร็จมาก มีผู้ใช้ถึง 170 ล้านคนที่ใช้งาน Mini Program ทุกวัน และมากกว่าครึ่งเป็นผู้ใช้จากเมืองรองในจีน ปัจจุบันมี Mini Program อยู่บน WeChat แล้วกว่า 580,000 โปรแกรม

โปรแกรมจำนวนมหาศาลใน WeChat นั้น มีครบทุกหมวดโปรแกรมที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมสำหรับร้านค้าปลีก, อีคอมเมิร์ซ, ค้นหาร้านอาหาร, ร้านค้า, ความงาม ไปจนถึงโปรแกรมของหน่วยงานรัฐบาล บรรดาแบรนด์ใหญ่ต่างต้องมีพื้นที่บนแพลตฟอร์มนี้ ไม่ว่าจะเป็น แมคโดนัลด์, สตาร์บักส์ หรือแม้แต่แอพแท็กซี่ DiDi ก็มี Mini Program บน WeChat

ผู้หวังโค่น App Store

Mini Program นั้น ถ้าหากดูว่าทำให้ใครเดือดร้อนที่สุด ก็คงเป็นแพลตฟอร์มแอพทั้งหลาย ซึ่งในจีนนั้น WeChat ก็ทำให้คุณค่าของ App Store ใน iOS ของแอปเปิล แตกต่างไปจากที่อื่น (เคยมีข่าวว่าคนใช้สมาร์ทโฟนจีนสนใจว่าโทรศัพท์ใช้ WeChat ได้หรือไม่ก็พอแล้ว เพราะมีทุกโปรแกรมในนั้น)

การเติบโตของ Mini Program ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่าง WeChat กับแอปเปิล ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว แอปเปิลตัดสินใจแบนระบบให้ทิประหว่างผู้ใช้งาน ซึ่งคนจีนนิยมใช้เวลาดู Live จากบล็อกเกอร์ โดยมองว่าเป็นการจ่ายผ่านแพลตฟอร์ม แอปเปิลจึงต้องได้ส่วนแบ่ง 30% ขณะที่ WeChat มองว่าเงินส่วนนี้เป็นการจ่ายตรงหากันระหว่างผู้ใช้ ที่ WeChat เองก็ไม่ได้เงินค่าธรรมเนียมใดๆ ซึ่งสุดท้ายก็มาเจรจาได้ข้อยุติปีนี้ โดยแอปเปิลยอมรับระบบให้ทิป และจะไม่มีการหักส่วนแบ่ง

บุกต่อสู่เกมอีคอมเมิร์ซ

Tencent บริษัทแม่ของ WeChat นั้นโดดเด่นในเรื่องคอนเทนต์อินเทอร์เน็ตจีน แต่เมื่อพูดถึงอีคอมเมิร์ซจีน เราก็จะนึกถึง Alibaba ก่อน อย่างไรก็ตามในยุคของ Mini Program นั้น WeChat ก็ได้ขยายพื้นที่สู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้นด้วย

นักวิเคราะห์จาก Canalys บอกว่าการเติบโตของ Mini Program ทำให้แบรนด์สินค้าจำนวนมาก ต้องมีพื้นที่มีโปรแกรมบน WeChat ซึ่งแพลตฟอร์มก็เปิดให้สามารถขายสินค้าผ่านตัวโปรแกรมได้ด้วย ยิ่งมีระบบจ่ายเงิน WeChat Pay ก็ทำให้ทุกอย่างจบบนแอพเดียว

แพลตฟอร์ม WeChat มีความเป็นเครือข่ายสังคม ใช้คุยกับเพื่อน ติดตามคนดังหรือบล็อกเกอร์ ทำให้ลูกเล่นการขายสินค้าผ่าน WeChat มีความเป็น Social Commerce โดยเฉพาะการให้บล็อกเกอร์ไทด์อินสินค้า ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังหน้าซื้อสินค้าได้สะดวก หรือการทำ Flash Sale แนวต้องซื้อของพร้อมกัน 2-3 คนจะได้ลดราคา ก็ทำได้ง่ายแพลตฟอร์มอื่น

อย่างไรก็ตามการขายสินค้าผ่าน WeChat มีลักษณะเป็นการชวนให้คนซื้อของด้วยอารมณ์ (Emotional) มากกว่าเน้นความคุ้มค่าอย่างบนแพลตฟอร์มเครือ Alibaba ที่สามารถเทียบราคาสินค้าได้ด้วย จึงอาจตอบได้ยากตอนนี้ว่ากลยุทธ์ของ WeChat นั้นจะใหญ่มากพอที่จะเอาชนะ Tmall ของ Alibaba ได้หรือไม่

ด่านต่อไปคือเกม

เมื่อปลายปีที่แล้ว WeChat เพิ่งตัวฟีเจอร์ใหม่ที่ต่อยอดจาก Mini Programs นั่นคือ Mini Games และมาพร้อมคุณสมบัติเดิมคือไม่ต้องมาลงในโทรศัพท์ ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่า WeChat จะประสบผลสำเร็จมากแค่ไหนจากเกมในแอพแชตแบบนี้

ต้องไม่ลืมว่า Tencent บริษัทแม่นั้นเป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์รายใหญ่ของจีนอยู่แล้วด้วย ฉะนั้นเรื่องการพัฒนาเกมจึงไม่ใช่ปัญหา

จะเห็นได้ว่า WeChat ในปีที่ผ่านมา ได้ขยายฐานออกไปสู่แอพพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และเริ่มรุกเข้าสู่พื้นที่ซึ่งมีผู้ครอบครองในตลาดอยู่แล้วได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

เรียบเรียงจาก: Tech In Asia, [2] และ TechNode

Blognone Jobs Premium