หนึ่งปีพร้อมเพย์ตอนที่ 1 การอัพเกรดโครงสร้างและระบบโอนเงินฟรี

by lew
24 January 2018 - 03:32

เมื่อเกือบสองปีที่แล้วโครงการหนึ่งของรัฐบาลที่ถูกพูดถึงกันมากคือ AnyID โดยยังมีข้อมูลไม่มากนักว่ามันคืออะไร จนวันนี้โครงการ AnyID กลายเป็นโครงการพร้อมเพย์ที่คนจำนวนมากใช้งานกัน ตัวเลขล่าสุดของการใช้พร้อมเพย์เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาคือ 700,000 รายการ สูงสุดนับแต่เปิดโครงการมา แม้จะมีแผนเปิดตัวภายในปี 2016 แต่การใช้งานจริงก็เลื่อนมาจนกระทั่งปี 2017 แต่การโอนเงินจริงเริ่มทำได้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2017 ทำให้สัปดาห์นี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีพร้อมเพย์อย่างเป็นทางการ คงได้เวลามาสำรวจกันว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา โครงสร้างการเงินของประเทศก้าวหน้าไปเพียงใด

จุดเริ่มต้น ระบบโอนเงินที่ “ใช้เลขอื่นได้” นอกจากบัญชีธนาคาร

ชื่อแรกของโครงการพร้อมเพย์คือโครงการ AnyID ที่เริ่มมีรายละเอียดออกมาว่าประชาชนจะสามารถโอนเงินผ่านหมายเลขอื่นๆ ได้ นอกจากหมายเลขบัญชีธนาคาร โดยก่อนเปิดตัว ข้อมูลจากคุณนฤดม รุ่งศิริวงศ์ ทีมที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยข้อมูลของโครงการ National E-Payment ระบุไว้ว่าระบบจะรองรับหมายเลขบัญชี, หมายเลขโทรศัพท์, และเลขบัตรประชาชน โดยในช่วงแรกยังไม่มีการพูดถึงค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

เมื่อโครงการพร้อมเพย์เปิดตัวเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2016 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศที่สำคัญที่สุดคือค่าธรรมเนียมการโอนต่ำกว่า 5,000 บาทฟรี อีกอย่างคือผู้ที่ต้องการรับเงินผ่านพร้อมเพย์จะต้องผูกหมายเลขโทรศัพท์หรือเลขบัตรประชาชนก่อนเท่านั้น ไม่มีหมายเลขบัญชีที่เคยถูกระบุว่าอยู่ในเฟสแรกของโครงการ AnyID แต่อย่างใด

กำหนดการเปิดใช้บริการพร้อมเพย์แรกคือไตรมาสที่สี่ปี 2016 แต่ก็เลื่อนไปไตรมาสแรกของปี 2017 และสามารถโอนได้จริงครั้งแรกในวันที่ 24 มกราคม 2016 ก่อนจะเปิดบริการจริงในวันที่ 27 มกราคม

หัวใจคือระบบโอนเงินทันทีและการปรับปรุงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

แม้ว่าคนทั่วไปจะตื่นเต้นกับพร้อมเพย์จากค่าโอนฟรี แต่โดยหัวใจของพร้อมเพย์แล้วคือการ สร้างระบบโอนเงินแบบทันที (real-time payment) และอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคาร ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISO20022

ระบบโอนเงินทันทีนั้นเมืองไทยอาจจะไม่ตื่นเต้นนักเพราะมี BAHTNET ที่สามารถโอนได้ทันทีมานานแล้ว แม้จะไม่ค่อยมีใครใช้เพราะค่าธรรมเนียมโอนออก 150 บาทต่อรายการ ค่าธรรมเนียมรับเงินอีก 100 บาทต่อรายการ แต่ในหลายประเทศไม่เคยมีระบบโอนเงินทันทีมาก่อน

ประเทศไทยก่อนหน้าพร้อมเพย์การสื่อสารระหว่างธนาคารใช้มาตรฐาน ISO 8583 (เวอร์ชั่นแรกของมาตรฐานออกมาตั้งแต่ปี 1987) การเปลี่ยนมาใช้พร้อมเพย์จึงเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่จะอัพเกรดระบบสื่อสารระหว่างธนาคาร อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกที่จะเปิดให้มีการอัพเกรดไปทีละส่วน ทำให้ Vocalink ผู้ผลิตซอฟต์แวร์หัวใจของพร้อมเพย์ต้องสร้างอแดปเตอร์ ISO 8583 ไปยัง ISO 20022 เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารที่ยังไม่อัพเกรดระบบสามารถเชื่อมต่อไปได้

กระบวนการอัพเกรดครั้งนี้จะเปิดทางให้สามารถใช้ฟีเจอร์เพิ่มเติมได้ โดยโอกาสอย่างหนึ่งคือการจัดเก็บภาษีที่จะลดเอกสารลง จากการส่งเอกสารภาษีต่างๆ ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด

แนวทางการอัพเกรดการสื่อสารนี้เป็นแนวทางที่ธนาคารกลางทั่วโลกทำไปแล้วหรือมีแผนจะทำอยู่ เช่น

ทั้งสิงคโปร์และออสเตรเลียแม้จะเปิดบริการใช้หมายเลขโทรศัพท์และหมายเลขบัตรประชาชนในการโอนเงิน แต่จำนวนธนาคารก็ไม่รองรับครบถ้วนเท่ากับหมายเลขบัญชีที่รองรับทุกธนาคาร พร้อมเพย์ของไทยจึงเป็นการอัพเกรดประหลาดที่ไม่ใช้หมายเลขบัญชีอยู่ชาติเดียว แถมถูกถอดออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะใช้ได้ตั้งแต่เฟสแรก คำตอบที่ผมเคยได้ในงานแถลงข่าวของสมาคมธนาคารคือการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งฟังดูไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะเลขบัญชีนั้นใช้ทำอย่างอื่นนอกจากรับเงินได้น้อยกว่าหมายเลขโทรศัพท์หรือเลขบัตรประชาชนมาก

ศักยภาพของพร้อมเพย์ มีความสามารถในการประมวลผล 500 รายการต่อวินาที (เทียบกับ VISA ที่ 65,000 รายการต่อวินาที และบิตคอยน์ที่ 4 รายการต่อวินาที)

บทความนี้เป็นตอนแรกเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการเปิดใช้งานพร้อมเพย์ ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องของการผลักดันให้มีการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นหลังจากพร้อมเพย์เปิดตัว

Blognone Jobs Premium