ปกติแล้วเรามักคุ้นเคยกับลินุกซ์ในฐานะของ "ระบบปฏิบัติการ" แต่ล่าสุด ลินุกซ์กำลังจะก้าวข้ามพรมแดนไปอยู่ในเฟิร์มแวร์ตอนบูตเครื่องก่อนเข้าสู่ระบบปฏิบัติการด้วย
มูลนิธิ Linux Foundation เพิ่งเปิดตัวโครงการ LinuxBoot เพื่อนำโค้ดของลินุกซ์ไปใช้ในเฟิร์มแวร์ของเซิร์ฟเวอร์ ปกติแล้ว เฟิร์มแวร์ของคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยโค้ดหลายส่วน เช่น ส่วนที่บูตฮาร์ดแวร์ในช่วงแรก (hardware init - UEFI PEI) และส่วนที่เริ่มการทำงานของหน่วยความจำ (memory initialized) ซึ่ง LinuxBoot จะเข้ามาทำหน้าที่แทนโค้ดส่วนหลัง (UEFI DXE)
เป้าหมายของ LinuxBoot คือการใช้โค้ดของลินุกซ์ที่พัฒนามานาน ทดสอบมาเยอะ และมีความปลอดภัยสูง มาใช้แทนโค้ดเฟิร์มแวร์เดิมที่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์แต่ละรายทำกันเอง โดยที่ไม่ผ่านการทดสอบมากเท่ากับลินุกซ์ ส่งผลให้กระบวนการบูตเสถียรและปลอดภัยขึ้น
นอกจากนี้ การที่โค้ดของลินุกซ์ใช้งานร่วมกันทั้งส่วนเฟิร์มแวร์และระบบปฏิบัติการ ยังช่วยให้กระบวนการบูตรวดเร็วขึ้นมาก (ทางโครงการบอกว่าค่าที่ควรจะเป็นคือ 20 เท่า!)
ตอนนี้โครงการเพิ่งเริ่มต้น มีโค้ดบน GitHub และยังรองรับเซิร์ฟเวอร์เพียงรุ่นเดียวคือ Dell R630 แต่โครงการก็ได้รับการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊ก ซึ่งจะนำไปใช้กับโครงการ Open Compute Project ด้วย
หมายเหตุ: โครงการนี้มีบางส่วนซ้อนทับกับ Coreboot หรือ LinuxBIOS เดิม ที่ใช้แนวคิดนำลินุกซ์มาทำเป็น BIOS เหมือนกัน แต่หน้าที่ของโครงการก็มีบางส่วนที่ไม่ทับกัน
ที่มา - LinuxBoot, Linux Foundation, Phoronix