ส่งไปให้ถึงผู้สรรหา, กรรมการ กสทช. แบบไหน ที่ภาคประชาชนต้องการ

by sunnywalker
30 January 2018 - 03:26

กสทช. จัดงาน "NBTC Public Forum กสทช. แบบนี้ที่เราต้องการ" เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากภาคประชาชน ส่งไปถึงอนาคตกรรมการกสทช. ชุดใหม่ 7 คน ที่จะมาแทนคณะชุดเก่าที่หมดวาระลง รวมทั้งส่งไปถึงคณะผู้สรรหากรรมการ กสทช. ด้วยว่า กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ควรมีคุณลักษณะอย่างไร ต้องแก้ปัญหาและเจอความท้าทายอะไรบ้าง

ผู้เข้าร่วมพูดคุยประกอบด้วย

  • ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  • สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
  • ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ผู้แทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน
  • วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง NBTC Policy Watch
  • สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย)


ภาพจาก NBTC

เริ่มจาก ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศาจาก กสทช. ระบุว่า กสทช. ทำงานกำกับดูแลด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ การแต่งตั้งคณะทำงานไม่สามารถทำอย่างเงียบๆ ได้ เพราะเป็นส่วนงานที่มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศชาติ การจัดงาน NBTC Public Forum จึงเป็นการรวบรวมเอาข้อคิดเห็นจากภาคประชาสังคมสื่อไปให้ถึงผู้สมัคร และผู้สรรหา ว่าคุณลักษณะ กสทช. ควรเป็นแบบไหน

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวสรุปสถานการณ์ผู้สมัครเข้าเป็นคณะกรรมการ กสทช. ว่า มี 87 ราย คัดเลือกให้เหลือ 14 คน เพื่อเสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้งเป็น กสทช. ตัวจริงต่อไป

ผู้สมัครคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช. ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และที่เห็นได้ชัดคือมีทหารเข้ามาสมัครมาก ผู้หญิงเองก็มีเพียง 4 คน เท่านั้น จะเห็นว่าความหลากหลายมีไม่มากนัก

คาดหวังผู้ที่มีความคิดเป็นอิสระ มีวิธีการป้องกันการแทรกแซงจากภายนอกได้


ภาพจาก NBTC

ข้อคิดเห็นแรกมาจาก สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) พูดในฐานะตัวแทนคนทำทีวีดิจิทัล เน้นว่าผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ กสทช. ต้องมีลักษณะพื้นฐานสำคัญคือความคิดเป็นอิสระ มีความคิดและวิธีการป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก เนื่องจากคณะกรรมการชุดใหม่นี้จะต่างจากชุดเดิม เพราะหนึ่งในคณะกรรมการกสทช. จะต้องมีคนหนึ่งไปนั่งเป็นคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มี คุณสุภาพมองว่าอาจถูกแทรกแซงได้

คุณสุภาพ ยกตัวอย่างว่า สมมติว่านายกฯ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือเป็นใครก็ตาม มีความคิดว่าโทรทัศน์ช่องใดช่องหนึ่งมีความคิดปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล นายกฯอาจใช้ช่องทางจากการเป็นประธาน พูดคุยกับหนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการดิจิทัลแห่งชาติแล้วอ้างกฎหมายความมั่นคงในการจัดการกับโทรทัศน์ช่องนั้น จะกลายเป็นปัญหาทันที ดังนั้นคุณสมบัติความเป็นอิสระ จะต้องเป็นที่ประจักษ์มากกว่าชุดเก่า

อยากได้คนที่ไม่มองมิติความมั่นคงอย่างเดียว แต่มองมิติความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้วย

ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ผู้แทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย บอกว่าความท้าทายของกสทช. มีมาก ทั้งการจัดสรรคลื่น วิกฤตทีวีดิจิทัล การดูแลสื่ออินเทอร์เน็ต ดังนั้นจำเป็นต้องเปิดมิติการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องการคนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เข้าไปดูแลผลประโยชน์ทรัพยากรประชาชนเช่นคลื่นความถี่ มากกว่าใช้อำนาจปิดสื่อ

คุณประดิษฐ์ เน้นบทบาท กสทช. ว่ามีความเป็นอิสระน้อยลง เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน กสทช.จะกลายเป็นเพียงองค์กรที่ทำหน้าที่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอีเท่านั้น จึงเกรงว่าคณะกรรมการสรรหา จะเลือกคนที่ทำงานร่วมกับกระทรวงดีอีได้มากกว่าจะเลือกคนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความล้มเหลวของ กสทช. คือ การคุ้มครองผู้บริโภค อยากให้ยกระดับเรื่องร้องเรียนของประชาชน ไปสู่การแก้ปัญหาได้จริง

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินการเสวนา (ซ้าย), สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ขวา)

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า ความล้มเหลวอันดับแรกๆ ของ กสทช. คือ การจัดการปัญหาผู้บริโภค โดยเรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ คือ ถูกคิดเงินจากการสมัคร SMS โดยไม่รู้ตัว และ การเปลี่ยนเครือข่ายยังทำได้ยาก แต่ กสทช. ไม่เคยมีประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อจัดการปัญหานี้เลย รวมถึงไม่เคยยกระดับการร้องเรียนของประชาชน ไปเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วไปได้เลย

ดังนั้น จึงต้องการคณะทำงานชุดใหม่ที่จัดการเรื่องร้องเรียนอย่างตรงไปตรงมา เช่น กำหนดเวลา 30 วันในการแก้ปัญหา เป็นต้น

อีกประเด็นที่ คณะกรรมการกสทช.ใหม่ควรให้ความสำคัญคือการมีส่วนร่วมจากภายนอก ทั้งในแง่ของการตรวจสอบและ การสร้างความเท่าทันทางข้อมูลให้กับผู้บริโภค คุณสารีเห็นด้วยกับคุณสุภาพเรื่องผลกระทบเทคโนโลยีต่อวงการสื่อโทรทัศน์ ทำให้ทีวีต้องมาโฆษณาขายของมากขึ้น คุณภาพของสินค้าที่เอามาขายมีมากน้อยแค่ไหน และ กสทช. จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร

กสทช. แบบไหน ที่เราไม่ต้องการ

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง NBTC Policy Watch เริ่มจากการตั้งหัวข้อว่า กสทช. แบบไหนที่เราไม่ต้องการ คือไม่มีความรู้ ไม่มีธรรมาภิบาล และไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม

  • กสทช. ที่ไม่มีความรู้ ที่ผ่านมาเรายังตอบไม่ได้ว่า คนที่ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของกสทช. เป็นใครและเชี่ยวชาญด้านใดบ้าง หรือถ้ามีความรู้จริงๆ ทำไมเรายังไม่เห็น กสทช. ท่านใดออกมาแสดงความเห็นเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ และการประมูลที่ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน ทำไมเรายังไม่เห็น กสทช. ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยุโทรทัศน์ ออกมาคัดค้านการแทรกแซงกิจการวิทยุ โทรทัศน์ ทำไมไม่พิจารณาคลื่นความถี่ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่มาจัดสรรใหม่
  • กสทช. ที่ไม่มีธรรมาภิบาล คือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ตัวอย่างเช่น ไม่เปิดเผยรายงานการประชุม ไม่เปิดเผยผลการศึกษา มองว่าสิ่งที่ล้มเหลวที่สุดของ กสทช. ด้านธรรมาภิบาลคือ การไม่ทำตามกฎหมาย ไม่สามารถนำคลื่นความถี่ในมือหน่วยงานรัฐ กลับมาจัดสรรใหม่ เช่น คลื่น 2.1 MHz ที่ยังว่างอยู่ คลื่นที่หมดสัมปทานแล้ว เช่น 900 และ 1800 MHz ทั้งที่เรามีความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่เยอะมาก
    นอกจากนี้ กสทช. ยังไม่จัดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า ยกตัวอย่างกรณีคลื่น 1800 MHz ของ True จนทำให้ต้องขยายระยะเวลาออกไป และคลื่นของดีแทคที่กำลังจะหมดในปี 2561 ทำไมจึงยังไม่รีบจัดประมูลล่วงหน้า ทั้งที่มีบทเรียนอยู่แล้ว
  • กสทช.ที่ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ยกตัวอย่างกรณีคลื่นวิทยุที่ครบ 5 ปี ตามแผนแม่บทแล้ว และทุกคนก็รอการจัดสรรคลื่นนี้อยู่ แต่หลังจากรัฐบาลใช้ ม.44 ขยายระยะเวลาออกไป กสทช. กลับไม่พูดอะไรเลย คุณวรพจน์ บอกว่า ความกล้าหาญทางจริยธรรม คือสิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดในคณะกรรมการ กสทช.ชุดหน้า

คุณวรพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่ คณะกรรมการ กสทช. ชุดเก่าล้มเหลวมากที่สุด คือ เข้าไปร่วมมือกับรัฐบาล ที่ขอความร่วมมือกำกับ ISP ในการควบคุมเนื้อหา ซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง สนองผู้มีอำนาจ ทั้งที่ละเมิดหลักเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

Blognone Jobs Premium