Google Assistant vs Alexa [ตอนจบ] กับการเดินเกมใหม่ของ Google เพื่อสู้ Amazon

by nismod
12 February 2018 - 13:55

ผมได้เกริ่นเอาไว้ใน Google Assistant vs Alexa ตอนแรก แล้วว่างาน CES 2018 ที่ผ่านไป ได้กลายเป็นพื้นที่สงครามระหว่าง Intelligent Assistant 2 เจ้า ดูอย่างง่ายที่สุดก็จำนวนของผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวในบทความเก่า

อย่างไรก็ตามเวทีนี้กลับไม่ได้เป็นเพียงสถานที่จัดงานโชว์หรือเปิดตัวเท่านั้น แต่ดูเหมือนจะกลายเป็นเวทีใหญ่สำหรับ Google สำหรับเดินหน้าในเกมผู้ช่วยอัจฉริยะด้วย โดยบทความนี้จะพยายามนำเสนอว่าเหตุใด Intelligent Assistant จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่มีการแข่งขันสูงและภาพรวมของการแข่งขัน ก่อนจะชี้ให้เห็นถึงความพยายามไล่ตาม Amazon ของ Google ให้เป็นรูปภาพธรรมมากขึ้น ปิดท้ายด้วยสภาพของเจ้าอื่นๆ อย่างไมโครซอฟท์ แอปเปิลหรือแม้แต่ซัมซุงจะมีที่ยืนในสมรภูมินี้แค่ไหน

เมื่อเสียงกลายเป็นอินเทอร์เฟสใหม่ของคอมพิวติ้ง

ถึงแม้ระบบ Voice Recognition จะมีมานานแล้ว แต่ก็ไม่ถูกพัฒนาให้ฉลาดหรือสามารถใช้งานได้จริงมากนัก ก่อนที่แอปเปิลจะเปิดตัว Siri ในฐานะ Intelligent Assistant บน iPhone 4S เมื่อปี 2011 ทำให้เสียง ได้เริ่มกลายเป็นอินเทอร์เฟสใหม่ของคอมพิวติ้ง

แต่ด้วยข้อจำกัดด้านความสามารถของ Siri รวมถึงการไปอยู่บนสมาร์ทโฟน ที่ผู้ใช้สามารถค้นหาและทำทุกอย่างได้บนมือถืออยู่แล้ว ที่สำคัญคือการไม่กล้าสั่งด้วยเสียงในที่สาธารณะและไม่รองรับคำสั่งตลอดเวลาแต่ต้องกดปุ่มโฮมค้างเพื่อสั่ง ทำให้ Intelligent Assistant หรือการสั่งงานด้วยเสียงช่วงแรกๆ ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้มากนัก เช่นเดียวกับ Google Now และ Cortana

อย่างไรก็ตามกรณีของ Alexa แตกต่างไปจากกรณีข้างต้น ถึงแม้ฟังก์ชันการรองรับคำสั่งช่วงแรกๆ จะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่ด้วยการไปอยู่บนลำโพงที่ always-on ที่รองรับคำสั่งตลอดเวลาได้จากระยะไกลและอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวอย่างในบ้าน ทำให้ลำโพงกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การสั่งงานด้วยเสียงมากกว่าบนสมาร์ทโฟน

เมื่อตัวปัญญาประดิษฐ์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รองรับคำสั่งมากขึ้นและเป็นธรรมชาติมากขึ้น การเปิดตัวเป็นรายแรกของ Amazon ก็ย่อมต้องชิงพื้นที่และส่วนแบ่งตลาดไปได้โดยปริยาย โดยรายงานจากบริษัทวิจัยตลาดหลายเจ้า ระบุตรงกันว่าปีที่แล้ว Amazon Echo ครองส่วนแบ่งในหลายๆ ประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ราว 70-76%

Google พยายามไล่ตาม Amazon ที่ครองตลาดมาตลอด

เมื่อ Amazon พิสูจน์ให้เห็นว่าลำโพงคือแพลตฟอร์มที่เหมาะสม ก็ไม่น่าแปลกหากจะมีบริษัทไอทีเจ้าอื่นๆ ลงมาเล่นตาม ที่เด่นและจริงจังที่สุดก็คงไม่พ้น Google ที่เปิดตัว Google Assistant ราวเดือนตุลาคม 2016 ก่อนตามมาด้วยฮาร์ดแวร์ Google Home ช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ที่ตั้งใจจะชนกับ Echo และ Alexa โดยตรง

ส่วนเจ้าอื่นๆ ก็ทยอยตามกันมาไม่ขาดสาย ทั้ง Cortana (ที่ไปแจมกับ Harman Kardon), Apple HomePod นอกจากนี้ยังมี Sonos บริษัทผลิตลำโพงที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ยังต้องปรับตัวนำ Alexa และ Google Assistant มาใช้งาน และล่าสุดก็ลำโพงไร้สายของซัมซุงที่ยังไม่เปิดตัว

หากมองย้อนไป หลังเปิดตัว Google Home ทาง Google พยายามไล่ตาม Amazon มาตลอด ด้วยการออกผลิตภัณฑ์รุ่นย่อยๆ ตั้งแต่รุ่นเล็ก Home Mini ที่เอามาชน Echo Dot, รุ่นใหญ่ Google Home Max และล่าสุดก็ Smart Display แบบมีจอภาพ ที่เอามาแข่งกับ Echo Show

เมื่อซอฟต์แวร์เด่นกว่าแต่ยังไม่พอ Google เลยเดินเกมใหม่

ถึงแม้ Amazon Echo จะมีส่วนแบ่งตลาดที่มากกว่า แต่ในแง่ของซอฟต์แวร์แล้ว Alexa ยังถือว่าด้อยกว่า Google Assistant อยู่หลายขุม โดยจุดเด่นของ Google Assistant ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการค้นหาข้อมูล (search) หรือตอบคำถามต่างๆ

จากงานวิจัยจาก 360i บริษัทเอเจนซี่เมื่อปีที่แล้ว ชี้ว่า Google Assistant มีแนวโน้มตอบคำถามได้มากกว่า Alexa ถึง 6 เท่า ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากฐานข้อมูลมหาศาลของ Google ร่วมกับ Knowledge Graph ขณะที่ Alexa โดดเด่นในแง่ของการค้นหาสินค้าปลีกเท่านั้น


ข้อมูลจาก 360i

เมื่อในแง่ของผลิตภัณฑ์ Google ไล่ตามทันแล้ว จากการออกฮาร์ดแวร์ที่คล้ายๆ กันและคุณภาพใกล้เคียงหรือดีกว่า แถมในแง่ซอฟต์แวร์ Google Assistant ยังทำได้ดีกว่า สิ่งที่ Google ยังตามหลังคือความนิยมและการรับรู้ของผลิตภัณฑ์ ซึ่ง Google เลือกที่เดินเกมรุกในงาน CES ครั้งนี้มากขึ้น ซึ่งที่เลือกงาน CES คงหนีไม่พ้นการเป็นฮับนิทรรศการด้านแกดเจ็ตและเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่มีคนมาร่วมงานมหาศาล

ที่ผ่านมาเราอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่ค่อยได้เห็นภาพการขายผลิตภัณฑ์หรือประชาสัมพันธ์จากทาง Google มากนักโดยเฉพาะผ่านทางสื่อออฟไลน์ แต่ทว่างาน CES 2018 Google เล่นใหญ่ในการประชาสัมพันธ์ Google Assistant ไม่ว่าจะบูธขนาดใหญ่ ตู้เครื่องเล่นไปจนถึงรถไฟโมโนเรล ที่เต็มไปด้วยคำว่า “Hey, Google” เพื่อสร้างการรับรู้ (recognition) กับวลีนี้ให้มากที่สุด ไปจนถึงว่าจ้างพนักงานมาเชิญชวนให้คนที่เข้าร่วมงาน ได้เดินเข้ามาชมบูธหรืออีเวนท์ของ Google ด้วยซ้ำไป


ภาพจาก Engadget

ขณะเดียวกันหลายเดือนที่ผ่านมาผู้บริหาร Google ระบุว่าได้พูดคุยกับบริษัทสื่อหลายๆ เจ้า เพื่อชักชวนและโน้มน้าวให้มีการสร้าง Original Content ผ่านเสียงบนแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น (ผู้บริหารไม่ได้ระบุว่าเป็นคอนเทนท์แบบไหน) หรือแม้แต่การเปิดบริการ Audiobook ที่สะท้อนว่า Google ไม่ได้พยายามขยายแพลตฟอร์มผ่านพาร์ทเนอร์อย่างเดียว แต่ก็พยายามดึงดูดผู้ใช้ด้วยคอนเทนท์ exclusive ต่างๆ ด้วย

สุดท้าย Alexa และ Google Assistant จะครองตลาดอยู่ 2 เจ้า

นักวิเคราะห์เมืองนอกหลายคนพูดไปในทางเดียวกันว่าสุดท้ายตลาด Intelligent Assistant จะไม่ใช่ Zero-Sum Game หรือเกมที่มีผู้ชนะเด็ดขาด แต่ Alexa และ Google Assistant จะครองตลาดร่วมกัน โดย Google จะค่อยๆ ดึงส่วนแบ่งมาจาก Amazon เรื่อยๆ อย่างน้อยๆ เทรนด์นี้ก็เริ่มเห็นเค้าลางจากช่วงเทศกาลปลายปีที่แล้ว

ขณะที่ความสามารถของ Alexa และ Google Assistant จะมีการพัฒนาเข้าหากันเพื่อแก้จุดอ่อนของตัวเองมาอ่อน กล่าวคือ Alexa ก็จะถูกปรับปรุงให้ตอบคำถามหรือค้นหาได้ฉลาดมากขึ้น ไปจนถึงการที่ Amazon ไปจับมือกับไมโครซอฟท์ก่อนหน้านี้ ในการนำ Alexa ไปทำงานร่วมกับ Cortana ก็ดูจะเป็นยุทธศาสตร์ปิดจุดอ่อนข้างต้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเราก็อาจได้เห็นวิธีการนี้ได้อีกในอนาคต

ด้าน Google Assistant ก็จะสามารถค้นหาสินค้าปลีกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะได้เห็นการจับมือกับพาร์ทเนอร์อย่าง Walmart มากยิ่งขึ้น

แล้ว Siri, Cortana และ Bixby ล่ะ?

แน่นอนพื้นที่ว่างที่เหลืออันน้อยนิดก็จะเป็นของผู้เล่นที่มาทีหลังและเทคโนโลยีไม่มีความโดดเด่นหรือตาม 2 เจ้าแรกไม่ทันทั้ง Cortana, Siri และ Bixby ของซัมซุง

ในรณีของ Cortana ถึงแม้ไมโครซอฟท์จะประกาศการเป็นพาร์ทเนอร์กับหลายๆ บริษัทอาทิ IFTTT, Honeywell Lyrics, TP-Link, Geenii เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นพาร์ทเนอร์ที่ซัพพอร์ทการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT กับ Cortana แต่ตราบเท่าที่ Cortana ยังไม่มีฮาร์ดแวร์ลำโพงมารองรับ (ตอนนี้มีเพียง ลำโพง Harman Kardon และ Thermostat) ก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่ไมโครซอฟท์จะดึงโมเมนตัมมาจาก 2 เจ้าข้างต้น

อย่างไรก็ตาม Andrew Shuman รองประธานฝั่งวิศวกรรม Cortana ของไมโครซอฟท์ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าบริษัทมองเกมนี้ในระยะยาวและยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ส่วนแผนการณ์ตอนนี้ของไมโครซอฟท์คือวางรากฐานให้กับ Cortana ไปก่อน (พัฒนา SDK และหาพาร์ทเนอร์)

ด้าน Siri ที่เพิ่งก้าวขาออกมาจาก iPhone และ MacBook เป็นครั้งแรกบน HomePod ที่เพิ่งเริ่มวางขาย ถึงแม้จะมาทีหลังและความสามารถของ Siri ก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่การผลักดัน HomeKit ของแอปเปิลที่ผ่อนปรนเงื่อนไขด้านความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงความแข็งแกร่งของ ecosystem ของแอปเปิล หากแอปเปิลเปิดให้ Siri ทำงานอยู่บนลำโพงหรือผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตรายอื่นด้วย ก็น่าจับตาว่า Siri จะมีที่ทางในการแข่งขันนี้มากน้อยแค่ไหน

แบรนด์ Intelligent Assistant ทั้ง 4 เจ้าข้างต้นที่กล่าวไปแล้ว (Amazon, Google, Microsoft, Apple) จะอยู่ในบริบทของตลาดในสหรัฐและยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีบริการรองรับ, มีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายและเป็นตลาดที่ค่อนข้างเติบโตแล้ว แต่ถ้าพูดถึงประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐและยุโรป Bixby ของซัมซุงดูจะมีศักยภาพไม่ใช่น้อย จากข้อได้เปรียบของซัมซุงที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแทบจะทุกอย่าง รวมถึงทำตลาดอยู่ทั่วโลก แต่ข้อเสียก็น่าจะหนีไม่พ้นการไม่รองรับอุปกรณ์อื่นๆ นอกเหนือจากซัมซุงเท่านั้น

ส่วนว่าจะมีคนใช้มากน้อยแค่ไหน ก็น่าจะอยู่ที่ความสามารถของ Bixby เป็นหลักแล้วเท่านั้น (อ่านบทความ เก็บตก SDC 2017 กับความพยายามครั้งใหม่ของซัมซุงสู่โลก Connected Device เพิ่มเติม)

สรุป

เกมนี้ค่อนข้างเป็นรูปเป็นร่างแล้วว่าน่าจะเสร็จ Echo และ Google Assistant สองเจ้าที่ทั้งมาก่อนและต่างมีความโดดเด่นของตัวเอง ปัญหาก็จะไปตกอยู่กับคู่แข่งที่เหลือ ว่าจะสามารถสร้างความโดดเด่นและแตกต่างแค่ไหน ซึ่งปัญหาหลักๆ
ที่ทั้ง 3 รายที่เหลืออย่าง Cortana, Siri และ Bixby มีเหมือนกันคือข้อจำกัดในการตอบคำถามหรือรับคำสั่งที่น้อยกว่า

เมื่อปัจจัยสำคัญของอินเทอร์เฟสในการสั่งงานด้วยเสียง คือความสามารถในการตอบคำถามหรือรับคำสั่ง เจ้าไหนที่ไม่สามารถพัฒนาจนตอบโจทย์ผู้ใช้ได้สุดท้ายก็ไม่มีคนใช้และไปไม่รอด ถึงแม้จะบังคับหรือฝังมาไว้ในอุปกรณ์มากน้อยแค่ไหนก็ตาม

อ้างอิง - Quartz, Tom's Guide, Digiday, GeekWire

Blognone Jobs Premium