อินเทลสร้างชิพควอนตัมที่ทำจาก “ซิลิคอน” ขนาด 2 คิวบิตสำเร็จแล้ว

by littletail
17 February 2018 - 19:25

ชิพคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในงานวิจัย คือชิพแบบ superconducting ที่บริษัทใหญ่ๆ อย่างกูเกิล, IBM, และอินเทลกำลังวิจัยสร้างอยู่ และชิพแบบ trapped ion ที่ใช้เลเซอร์ในการดักจับไอออนและแก้ไขสถานะของคิวบิต

แต่โลกของการวิจัยชิพควอนตัมก็ไม่ได้จบอยู่ที่สองแบบนี้เท่านั้น ก่อนหน้านี้ อินเทลเคยประกาศไว้ว่ากำลังวิจัยชิพที่ทำจากซิลิคอนด้วยเช่นกัน โดยเชื่อว่าชิพซิลิคอนนี้จะมีขนาดเล็กกว่าชิพแบบอื่นเมื่อมีจำนวนคิวบิตเท่ากัน สามารถคงสถานะของคิวบิตได้นานกว่า สามารถทำงานที่อุณหภูมิสูงกว่าชิพแบบ superconducting ได้ และที่สำคัญคือ อินเทลมี know-how ในการสร้างชิพจากซิลิคอนอยู่แล้วด้วย

ซิลิคอนเวเฟอร์ที่ใช้ในชิพควอนตัมของอินเทล (ภาพโดย Intel)

ล่าสุด อินเทลร่วมกับนักวิจัยจาก Delft University of Technology และ University of Wisconsin-Madison ก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบชิพคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาด 2 คิวบิตที่ทำจากซิลิคอนแล้ว โดยชิพดังกล่าวจะใช้สมบัติ “สปิน” ของอนุภาคแทนสถานะ superposition ของคิวบิต และยิงคลื่นไมโครเวฟเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะของมัน (ลองดูคลิปสาธิตประกอบท้ายข่าวได้ครับ)

ชิพซิลิคอนที่ว่านี้ได้รับการทดสอบแล้วว่าสามารถประมวลผลอัลกอริทึม Deutsch-Josza (อัลกอริทึมควอนตัมที่ใช้ทดสอบฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์) และอัลกอริทึม Grover ได้ (อัลกอริทึมควอนตัมที่ใช้ค้นหาข้อมูลที่ไม่มีการจัดเรียงใดๆ)

หากสนใจจะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้วได้ที่ Nature ครับ

ที่มา - Intel Newsroom, MIT Technology Review, Gizmodo, งานวิจัยตีพิมพ์ใน Nature

ปล. อันที่จริง มีงานวิจัยเกี่ยวกับชิพซิลิคอนอีกชิ้นนึงที่ตีพิมพ์ในวันเดียวกันกับของอินเทลด้วย แต่อันนี้ผมไม่พูดถึงละกันครับ อ่านแล้วงง =_=

Blognone Jobs Premium